April Fool’s Day วันแห่งการโกหก และการเล่นพิเรนทร์
เคยสงสัยกันไหมว่า ? ทำไมต้องโกหก หรือหาเรื่องแกล้งกันในวันเอพริลฟูลส์เดย์ (April Fools’ Day)หรืออีกชื่อที่รู้จักกันในนาม ‘เมษาหน้าโง่’ แล้ววันนี้มันมีที่มายังไง ทำไมต้องเป็นวันที่ 1 เมษา วันอื่นโกหกไม่ได้หรอ?
ที่มาของ April Fools’ Day
ต้นกำเนิดของ ‘April Fool’s Day’ นั้น เกิดขึ้นใกล้เคียงกับเทศกาลฮิลาเรียของโรมันที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม จากตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) เล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun’s Priest’s Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่จากเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นก็คือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกคัดลอกผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง “โกหก” ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายน
การย้ายวันปีใหม่
ไม่มีแหล่งที่มายืนยันได้แน่ชัด แต่จากการคาดเดาของนักประวัติศาสตร์ ระบุว่า April Fools’ Day เกิดขึ้นในปี 1582 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนจากปฏิทินจูเลียนเป็นปฏิทินเกรกอเรียนตามที่สภาเทรนต์กำหนดไว้ในปี 1563 ตอนนั้นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฝรั่งเศสตรงกับวันที่ 1 เมษายน กระทั่ง สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 (โป๊ปเกรกอรี) ได้เปลี่ยนให้ชาวคริสต์ทั่วโลกฉลองวันขึ้นปีใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 มกราคม
ทีนี้เลยเรียกได้ว่า ‘งานงอก’ เพราะสมัยก่อนการจะประกาศหรือแพร่กระจายข่าวสารไม่ได้รวดเร็วเหมือนสมัยนี้ คนบ้านนอกของฝรั่งเศสบางกลุ่มยังไม่รู้ คนที่รับข่าวสารช้าหรือไม่ทราบว่าวันเริ่มต้นปีใหม่ได้ย้ายไปเป็นวันที่ 1 มกราคม แถมบางคนได้ยินแล้วก็ยังไม่เชื่อ และยังคงเฉลิมฉลองในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายนเหมือนทุกปี จึงกลายเป็นเรื่องตลกและทำให้พวกสมัยใหม่เยาะเย้ย เหล่าคนตกยุคว่า “หน้าโง่” แถมยังพยายามจะแกล้งหลอกคนกลุ่มนี้เพื่อความสนุกสนานอีกด้วย โดยการเขียนกระดาษแปะไว้ที่หลังโดยเขียนว่า “poisson d’avril” (April fish) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของปลาอายุน้อยที่จับได้ง่าย
พิธีทั่วโลก
April Fool’s Day ถือเป็นวันหยุดของชาวตะวันตก ที่มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า นี่คือวันแห่งการโกหก หลอกลวง และจะต้องถูกแกล้งหาเรื่องมาอำกันอย่างสนุกสนาน แล้วค่อยมาเฉลยทีหลังว่ามันคือการโกหก! โดยคนที่โดนแกล้งจะต้องไม่โกรธ เพราะมันคือวันแห่งการโกหก
สุดท้ายแล้วการจะโกหก หรือแกล้งใครก็ต้องมีขอบเขต แม้เราจะมองว่าเป็นการเล่นกันสนุก ๆ แต่เรื่องหรือผลที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ได้ตลก และอาจก่อให้เกิดอันตรายกับคนรอบข้างได้ แนะนำว่าเล่นกันแบบพอดี ๆ ไม่เลยเถิด น่าจะเป็นการดีที่สุด
ที่มา : Reader’s Digest infoplease