รีเซต

เปิด 4 เหตุผล ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง? แล้วรัฐบาลใหม่จะช่วยได้จริงไหม?

เปิด 4 เหตุผล ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง? แล้วรัฐบาลใหม่จะช่วยได้จริงไหม?
แบไต๋
30 พฤษภาคม 2566 ( 07:00 )
84
เปิด 4 เหตุผล ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง? แล้วรัฐบาลใหม่จะช่วยได้จริงไหม?

ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีถึง 8 พรรคการเมืองที่ชูนโยบายแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง และในจำนวนนี้มี 4 ใน 8 พรรคการเมืองที่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

สาเหตุของปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ แต่สำหรับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเรา ๆ มีสาเหตุที่ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น เพราะค่า FT ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยค่า FT นี้ เป็นค่าไฟฟ้าผันแปรที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ทุก ๆ 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.

ล่าสุด กกพ. ประกาศปรับค่า FT งวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 ขึ้นมาอยู่ที่ 98.27 สตางค์/หน่วย โดยค่า FT ในปัจจุบัน พุ่งขึ้นมาตั้งแต่งวดเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย โดยเพิ่มขึ้นจากงวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2565  ซึ่งอยู่ที่ 24.77 สตางค์/หน่วย และและงวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย ในขณะที่ระหว่างปี 2559 – 2564 ค่า FT นั้นติดลบมาโดยตลอด

ค่า FT ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุหลัก คือ (1) การลดค่า FT ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลต้องการลดภาระค่าไฟให้กับประชาชน แต่ในทางกลับกันก็ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกิดหนี้สะสมสูงกว่า 100,000 ล้านบาท

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องปรับขึ้นค่า FT เพื่อลดภาระหนี้ของ กฟผ. โดยหากค่า FT อยู่ในระดับเกิน 90 สตางค์/หน่วย กฟผ. จะสามารถปลดภาระหนี้ได้ใน 2 ปี ส่วนสาเหตุอีกข้อคือ (2) ความขัดแย้งในเมียนมา รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้าของไทยสูงขึ้น

สำหรับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกนำมาคำนวณเป็นค่าไฟฟ้านั้น สามารถสรุปได้เป็น 4 ปัจจัยหลัก ๆ คือ ข้อที่ 1. การประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าของรัฐบาลที่สูงเกินจริง ภายใต้แผน PDP2018 ทำให้มีการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองสูงถึง 55% จากระดับที่ควรจะเป็นเพียง 15%

ข้อที่ 2. รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment: AP) ให้โรงไฟฟ้าเอกชนตามสัญญา ไม่ว่าโรงไฟฟ้านั้นจะเดินเครื่องหรือไม่ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากข้อที่ 1.

ข้อที่ 3. ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่นำมาผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากนโยบายภาครัฐและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ

และข้อที่ 4. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงานปรับขึ้นทั่วโลก ไทยจึงมีต้นทุนการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า

จะเห็นได้ว่าปัญหาค่าไฟฟ้าแพงนั้น เกิดจากทั้งปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ และปัจจัยภายในที่สามารถปรับแก้ได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา กกพ. มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชน งวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2566 ลง 7 สตางค์/หน่วย จากมติเดิม 4.77 บาท/หน่วย กลายเป็น 4.70 บาท/หน่วย ซึ่งถือเป็นการลดลง 2 สตางค์/หน่วย จากงวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2566 ซึ่งอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย 

ในตอนนี้เราพอจะรู้สาเหตุแล้วว่าทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพง ส่วนคำถามที่ว่ารัฐบาลใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้จริงหรือไม่? เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา : การไฟฟ้านครหลวง, GreenNews

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง