รีเซต

NASA สร้างแบบจำลองพื้นผิวดวงจันทร์ใต้น้ำสำหรับฝึกนักบินอวกาศ

NASA สร้างแบบจำลองพื้นผิวดวงจันทร์ใต้น้ำสำหรับฝึกนักบินอวกาศ
TNN ช่อง16
23 เมษายน 2566 ( 00:41 )
113
NASA สร้างแบบจำลองพื้นผิวดวงจันทร์ใต้น้ำสำหรับฝึกนักบินอวกาศ

ก่อนที่การส่งนักบินอวกาศในภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3) ไปลงจอดบนดวงจันทร์ นาซา (NASA) กำลังสร้างแบบจำลองพื้นผิวดวงจันทร์ขึ้นมาใต้สระน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าห้องปฏิบัติการลอยตัวเป็นกลาง (Neutral Buoyancy Laboratory) ซึ่งเป็นสระน้ำขนาดยักษ์ที่มีความยาวประมาณ 61 เมตร, กว้าง 31 เมตร และลึกถึง 12 เมตร อีกทั้งยังสามารถบรรจุน้ำได้มากถึง 6.2 ล้านแกลลอน 

การใช้ทรายและหินเพื่อจำลองสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวดวงจันทร์ 

ในการสร้างแบบจำลองพื้นผิวดวงจันทร์ใต้น้ำครั้งนี้ นาซาตั้งเป้าที่จะทำให้มันมีลักษณะคล้ายกับพื้นผิวดวงจันทร์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดฉากด้วยทรายและก้อนหิน รวมไปถึงการจำลองการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์


โดยปกติแล้วสระน้ำแห่งนี้ถูกใช้เพื่อฝึกนักบินอวกาศในการทำสเปซวอร์ค (Spacewalk) หรือการปฏิบัติภารกิจนอกยานอวกาศเป็นเวลานานภายใต้ชุดอีวีเอ (EVA) อันเป็นชุดสำหรับสวมใส่เมื่อนักบินอวกาศต้องทำภารกิจนอกยาน รวมไปถึงการฝึกกู้คืนยานอวกาศเมื่อทำการลงจอดบนผิวน้ำได้ด้วย

สำหรับการฝึกการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ นักบินอวกาศจะต้องดำลงไปก้นสระพร้อมด้วยอุปกรณ์สำหรับถ่วงน้ำหนักไม่ให้ลอยตัวขึ้นมา เนื่องจากที่ความลึกประมาณ 12 เมตร แรงพยุงของน้ำจะทำให้แรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อร่างกายของนักบินอวกาศเหลือเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น


การจำลองแรงโน้มถ่วงด้วยแรงพยุงของน้ำ 

โดยแรงโน้มถ่วงบนพื้นผิวโลกมีค่าประมาณ 9.8 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง เมื่อแรงโน้มถ่วงของโลกเหลือเพียง 1 ใน 6 จะทำให้มันมีค่าใกล้เคียงกับแรงโน้มถ่วงบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ประมาณ 1.6 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง 


ทั้งหมดนี้จะทำให้นักบินอวกาศรู้สึกราวกับว่ากำลังเดินอยู่บนดวงจันทร์จริง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความคุ้นชินให้กับร่างกายของพวกเขาเมื่อถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์นั่นเอง


อย่างไรก็ตาม การจำลองพื้นผิวดวงจันทร์ใต้สระน้ำขนาดยักษ์ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในอนาคตอาจมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรกับสระน้ำแห่งนี้ ยังเป็นเรื่องที่เราต้องจับตามองต่อไป


ข้อมูลจาก futurism

ภาพจาก NASA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง