รีเซต

ส่องเทคโนโลยีท่าเรือสุดล้ำ มุ่งเป้าสู่ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ

ส่องเทคโนโลยีท่าเรือสุดล้ำ มุ่งเป้าสู่ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2565 ( 22:40 )
233
ส่องเทคโนโลยีท่าเรือสุดล้ำ มุ่งเป้าสู่ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ


ความสำคัญและหน้าที่ของท่าเทียบเรือ?

ท่าเทียบเรือ คือ พื้นที่ท่าน้ำที่ให้เรือเข้ามาเทียบเพื่อขนส่งสินค้าระหว่างขนสินค้าขึ้น-ลงเรือ ซึ่งในอดีตจะใช้คนขนส่ง จนกระทั่งมีวิวัฒนาการด้านเครื่องมือเข้ามาช่วยในการทุ่นแรง เช่น ปั้นจั่นหรือเครน ซึ่งจะมีทั้งปั้นจั่นที่ใช้ยกสินค้าที่อยู่ในเรือ และปั้นจั่นบก ที่ใช้ยกสินค้าขึ้นลงระหว่างเรือและพื้นดิน ซึ่งเครื่องมือยกขนนี้จะมีการพัฒนาที่จะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสินค้าของแต่ละท่าเทียบเรือ 

โดยจากการเปิดเผยของ นายอาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไป บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ระบุว่า ท่าเทียบเรือของบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่มีการใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก


ท่าเทียบเรือต้องพัฒนาและปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

นายอาณัติ กล่าวว่า การจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในท่าเทียบเรือ เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้มี source หรือวัตถุ หรือสิ่งที่จะนำมาเป็นต้นทุน เป็นต้นแบบการผลิตหรือการพัฒนา จึงต้องรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อนที่ฮัทชิสันเข้ามาลงทุน ก็เริ่มพัฒนาท่าเทียบเรือตามเทคโนโลยีที่มี ณ ปัจจุบันในขณะนั้น ซึ่งต้องปรับสภาพให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยปัจจุบันท่าเทียบเรือฮัทชิสันเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกของโลกที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Hybrid Operation คือการผสมผสานของระบบอัตโนมัติและการทำงานของคนเข้าไว้ด้วยกัน


ภายในท่าเทียบเรือมีการใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง?

โดยท่าเทียบเรือกลุ่มฮัทชิสันพอร์ต ประเทศไทย ประกอบด้วยแอ่งจอดเรือที่ 1 และแอ่งจอดเรือที่ 2 ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น ท่าเรือชุด A เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ (Multipurpose Terminal) รองรับเรือได้หลากหลายประเภท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระบบการทำงานแบบเก่า แต่ก็ยังมีนวัตกรรมซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยบ้าง


ท่าเรือชุด C เป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้า (Container Terminal) ซึ่งมีนวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้เช่นเดียวกัน รวมถึงฮาร์ดแวร์ด้วย โดยที่ปั้นจั้นยกตู้สินค้าในลานตู้ ได้ปรับระบบจากเครื่องยนต์ล้วน มาเป็นไฮบริด เพื่อช่วยให้เกิดลดการใช้พลังงาน (Low Consumption) รวมถึงมีฟังก์ชันจากซอฟแวร์ที่เข้ามาช่วยให้เกิดการทำงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 


ขณะที่ท่าเรือชุด D ค่อนข้างจะเป็นท่าเทียบเรือที่มีนวัตกรรมชั้นแนวหน้า โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟเบอร์ออปติก โดย 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ฮัทชิสันใช้โครงสร้างนั้นในการเชื่อมโยงส่งคำสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยก็มีแบคอัพเป็นการใช้ Wi-Fi ซึ่งขณะนี้กำลังจะพัฒนาไปเป็นใช้ 5G และมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมระยะไกลผ่านระบบ Remote Operation System (ROS) ซึ่งศูนย์นี้เป็นเสมือนห้องทำงานบนเครนสูง ที่ใช้ควบคุมการทำงานของปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าเรือ และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานวาง โดยมีจอยสติ๊ก ใช้บังคับทิศทางเครน และหน้าจอมอนิเตอร์ที่ใช้แทนสายตา ซึ่งส่งภาพมาจากกล้อง CCTV จำนวน 19 ตัว 


และที่สำคัญคือ มีการนำรถหัวลากไฟฟ้าอัตโนมัติ (Autonomous Truck) จำนวน 6 คัน มาวิ่งรับส่งตู้สินค้าในท่าเทียบเรือ ซึ่งถือเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกของโลกที่นำมาใช้งานร่วมกับคนขับ โดยรถหัวลากอัตโนมัตินี้ใช้เทคโนโลยี AI ที่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎจราจรได้ ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% ใช้งานได้ 12 ชั่วโมง หรือวิ่งได้ 120-140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยใช้เวลาชาร์จ 1.30 ชั่วโมง ถูกควบคุมจากระยะไกลเช่นเดียวกับเครน


นอกจากนี้ ยังมีระบบการใช้ส่งมอบสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (EDO) ระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ (National Single Window) ระบบ E-Payment ระบบ E-Cash และระบบอื่นๆ  


การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ภายในท่าเทียบเรือ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความปลอดภัยได้อย่างไร?

จากนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการเป็น Green Port หรือเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ เช่น การปรับเครื่องยนต์จากเดิมเป็นน้ำมันล้วนมาใช้เป็นไฮบริด หรือการใช้ไฟฟ้าล้วน อย่างในท่าเทียบเรือชุด D นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ ซึ่งจะสามารถลดการใช้กระดาษได้ถึงปีละสิบล้านแผ่น


และที่สำคัญการนำเทคโนโลยีมาใช้จะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้รับบริการด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพนักงานไม่ต้องขึ้นไปทำงานบนเครนสูงหลายสิบเมตร โดยนายอาณัติ เล่าว่า ในหนึ่งกระบวนการยกขนตู้สินค้าเท่ากับหนึ่งความเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้ามีล้านตู้สินค้า ก็เท่ากับล้านความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก รองลงมาเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการขนย้าย และการให้บริการ


เมื่อเทคโนโลยีถูกนำมาใช้แทนแรงงานคน จะส่งผลให้คนตกงานมากขึ้นหรือไม่?

นายอาณัติ ระบุเหตุผลที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานแต่จะยังไม่สามารถทดแทนการทำหน้าที่ของคนได้ทั้งหมด ว่า "เรามองพื้นที่ภาพรวมก่อนจุดไหนที่เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ ช่วยแล้วมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลก็จะนำมาทดแทน ซึ่งจะทดแทนในแง่ของสิ่งที่มนุษย์เข้าไม่ถึง 


ผมยกตัวอย่างมีซอฟแวร์อยู่ตัวนึงใช้ในการที่จะช่วยดูเวลาที่ปั้นจั่นยกตู้สินค้าเคลื่อนตัว เค้าไปแล้วไปเจออุปสรรคข้างหน้ามั้ย บางครั้งมนุษย์จะเกิดความไม่ระมัดระวัง พอไม่ระมัดระวังเราควบคุมเครื่องจักร เครื่องจักรไปเกิดอันตรายทำให้เกิดอุบัติเหตุ อันนี้เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก การนำนวัตกรรมมาช่วยให้เกิดความปลอดภัย


เช่น ในหนึ่งรอบการยกตู้สินค้าในลานยกตู้สินค้า 90% คือ เทคโนโลยี AI มีการแสกนโปรไฟล์ มีการเช็กจุดต่างๆ ที่จะเกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ มีการยกตู้สลับตู้สินค้าเองโดยที่มนุษย์ไม่ต้องไปให้ความสนใจมาก อีก 10% คือ ตอนที่รับมอบส่งมอบตู้ให้กับรถลูกค้า  เทคโนโลยีอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่เรานำมาทดแทน คือ ลดข้อผิดพลาดของมนุษย์ และเรามีแต่จะรับคนทำงานเพิ่ม เพราะว่าท่าเทียบเรือเรากำลังขยาย"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง