รีเซต

Innovations จากพลังแม่

Innovations จากพลังแม่
Tech By True Digital
10 สิงหาคม 2565 ( 00:01 )
135
Innovations จากพลังแม่

พลังแห่งความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้น ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่หลายคนอาจคาดเดา เพื่อความสุขของลูก ๆ เราจึงได้เห็นแม่หลาย ๆ คนที่พร้อมหาทางปลดล็อกทุกความเป็นไปได้ที่ดีกว่า เพื่ออนาคตของลูกเสมอ Tech By True Digital จึงขอร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งวันแม่ของไทยด้วยการพาไปดูนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นจากพลังแห่งความรักของคุณแม่สายเทคโนโลยี และนักประดิษฐ์ที่ไม่ได้เปลี่ยนโลกของลูกน้อยเท่านั้น แต่เปลี่ยนโลกให้กับลูกของคุณแม่อีกหลายคน ให้เป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม  

 

Vivienne Ming: แม่ผู้สร้าง “พลังธรรมดา” แสนพิเศษ

 

 

 

Vivienne Ming นักประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ และคุณแม่ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับโลกใบนี้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพให้กับมนุษย์ โดย Vivienne เป็นคุณแม่ที่เอาชนะอุปสรรคจากความเจ็บป่วยของลูกชายหลายครั้ง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่รู้ว่าลูกชายเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เธอจึงเป็นผู้พัฒนาเครื่องปั๊มอินซูลิน เพื่อเลียนแบบการทำงานของตับอ่อนและทำหน้าที่ปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย และสร้าง AI ที่เรียนรู้ที่จะจับคู่ระดับอินซูลินในร่างกายของลูกกับอารมณ์และกิจกรรมว่าเมื่อไหร่ที่ต้องปล่อยอินซูลินเพื่อรักษาระดับอินซูลินในร่างกายให้คงที่ 

 

นอกจากนี้ เมื่อลูกชายของเธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการอยู่บนออทิสติก สเปคตรัม ซึ่งทำให้การแปลความการแสดงออกทางสีหน้า และการสื่อสารตามจังหวะสังคม (Social Cues) อื่น ๆ เป็นไปได้ยาก และมักเป็นอุปสรรคในการเข้าสังคมของผู้ที่อยู่บนสเปคตรัมนี้ Viviene จึงพัฒนาคอนเซ็ปต์ “SuperGlass” ร่วมกับ Google โดยต่อยอดจากงานชิ้นแรก ๆ ของเธอในการพัฒนาโปรเจกต์พิเศษให้ CIA ที่ต้องการ AI เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าแบบเรียลไทม์สำหรับการตรวจจับการโกหก โดย AI ที่เธอร่วมพัฒนานั้นเรียนรู้ที่จะจดจำการแสดงออกทางสีหน้าของคนในกล้องและอนุมานอารมณ์ ณ เวลานั้น โดยเรียนรู้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบนใบหน้าที่แสดงอาการรังเกียจ เช่น รอยย่นของจมูกและริมฝีปากบนที่ยกขึ้น หรือความโกรธ ที่แสดงออกโดยคิ้วขมวดเข้าหากัน ตาพร่า และริมฝีปากหดลง อีกทั้งยังสามารถเรียนรู้ที่จะแยกแยะรอยยิ้มที่ปลอมออกจากรอยยิ้มจริง 

 

ซึ่งเธอได้นำมาพัฒนาต่อยอดให้ SuperGlass กลายเป็นระบบที่สามารถจดจำสีหน้าและอารมณ์ และประมวลผลออกมาบนหน้าจอของแว่นตาให้ผู้สวมใส่รับรู้ข้อมูลผ่านหน้าจอว่าคนที่อยู่ต่อหน้ากำลังมีความสุข เศร้า โกรธ หรืออารมณ์อื่นใด ทำให้เด็ก ๆ ผู้มีอาการออทิสติกสามารถคงปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมได้ โดยผลวิจัยจาก Standford ชี้ว่า การใช้ SuperGlass ทำให้เด็ก ๆ ผู้มีอาการออทิสติกมีพัฒนาการเรียนรู้ทางภาษาบนใบหน้าดีขึ้น และต่อมา ผู้ใช้งานสามารถจดจำความหมายของการแสดงออกออกทางสีหน้าได้แม้ไม่ได้สวมใส่ SuperGlass อยู่อีกด้วย






Vivienne Ming และ Google Glass

ที่มา:https://www.thesun.co.uk/tech/



จากจุดเริ่มต้นของ Vivienne คุณแม่นักวิทยาศาสตร์ที่เพียงต้องการให้ลูกของเธอได้มีชีวิตธรรมดา รับรู้ และสัมผัสประสบการณ์ได้เช่นคนทั่วไป แต่ “พลังธรรมดา” ที่สุดแสนพิเศษสำหรับเด็กและผู้ใหญ่อีกมากมายนี้เอง ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ทำให้โลกทั้งใบเข้าใจกันและกันมากขึ้นอีกนิดนั่นเอง 

 

Yamile Jackson: แม่ผู้มอบกอดและปลอบโยนแก่เด็กทุกคน

 

 

Yamile Jackson วิศวกรด้านการยศาสตร์และความปลอดภัย (Ergonomics and Safety Engineering) และเป็นหนึ่งในคุณแม่ผู้คลอดลูกชายก่อนกำหนด ซึ่งทำให้ลูกของเธอต้องอยู่ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดระยะวิกฤต หรือ NICU เป็นเวลานาน และพลาดหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็กทารกที่การถูกสัมผัสและการกอดถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น 

 

Yamile ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เธอได้ร่ำเรียนมาถึง 4 สาขา พ่วงด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ ในการประดิษฐ์ถุงมือถ่วงน้ำหนัก “The Zaky Hug” ตามชื่อของลูกชาย Zachary เพื่อจำลองการกอด การจับและสัมผัสให้กับลูกชายตลอดเวลาที่อยู่ใน NICU แม้เวลาที่เธอไม่ได้อยู่ด้วย เพื่อให้ลูกของเธอได้รับความรู้สึกของการถูกกอด สัมผัส และไม่โดนทอดทิ้ง ซึ่ง The Zaky Hug ไม่เพียงช่วยปลอบประโลมลูกน้อยเท่านั้น แต่เมื่อทารกได้นอนหลับอย่างไม่กระวนกระวายจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาแรกเกิด สอดคล้องกับผลการศึกษาเกี่ยวกับการสัมผัสในทารกแรกเกิดที่ว่า ทารกแรกเกิดที่ไม่ได้รับการสัมผัสและกอดมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการล่าช้าทั้งด้านร่างกายและสมอง   

 

The Zaky Hug

ที่มา:https://www.reuters.com/



หลังจากที่ลูกชายของ Yamile ออกจากโรงพยาบาลแล้ว เธอยังเดินหน้าประดิษฐ์ถุงมือ The Zaky Hug เพื่อมอบให้กับ NICU หลายแห่ง และต่อยอดไปที่ “The Zaky ZAK” ที่เลียนแบบวิธีการ “Kangaroo Care” หรือการวางทารกให้สัมผัสกับผิวและร่างกายของแม่ตลอดเวลา เพื่อสร้างสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ หรือ Skin-to-Skin Contact ที่ช่วยให้ทารกแรกเกิดหรือทารกเกิดก่อนกำหนดรู้สึกสงบลง ร้องน้อยลง มีอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจสม่ำเสมอ รักษาความอบอุ่นร่างกายของทารก และเพิ่มพูนพัฒนาการของร่างกายในทารกแรกเกิดอีกหลายประการอีกด้วย ซึ่งทั้งแนวคิดและเครื่องมือดังกล่าวได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญของหน่วย NICU ในหลาย ๆ โรงพยาบาลเพื่อใช้เลียนแบบการกอดและสัมผัสทารกแรกเกิด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ สรีรวิทยา และระบบประสาท 

 

จากแม่ที่เพียงต้องการโอบกอดลูกน้อยในวันที่เป็นไปไม่ได้ ในวันนี้ Yamile ได้มอบกอดที่ปลอบโยนเด็กทารกอีกมากมายให้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปได้ ด้วยนวัตกรรมจากความเป็นแม่ของเธอ

 

Shelly Henry: แม่ผู้บรรเทาความเจ็บปวด 

 

 

Shelly คุณแม่ผู้เฝ้ามองความเจ็บปวดเรื้อรังของ Kara ลูกสาวในวัย 15 ปี จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ส่งผลให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก อวัยวะภายในช่องท้องและไขสันหลัง ที่จนแม้เมื่อได้รับการผ่าตัดแล้ว Kara ก็ยังเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตและต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสียหายของกระดูกสันหลัง รวมทั้งอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่ดูเหมือนไม่มีวันจบสิ้น 

 

Shelly ที่ในขณะนั้นเป็นนักศึกษาเตรียมแพทย์และทำงานในคลีนิกบำบัดอาการเจ็บปวด ได้ทุ่มเทตัวเองในการหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้ยาแก้ปวดในปริมาณมากของลูกสาว จนกระทั่งความพยายามอย่างไม่ลดละของเธอสัมฤทธิ์ผล ด้วยการค้นพบการนำเลเซอร์และเทคโนโลยีหลากหลายมาใช้ในการรักษาอาการปวด อันเป็นที่มาของนวัตกรรม “Neurolumen” อุปกรณ์บรรเทาความเจ็บปวดแบบพกพาได้ ที่ใช้เทคโนโลยีหลายรูปแบบ ประกอบด้วย เลเซอร์ไดโอด ไดโอดเปล่งแสง และแผ่นเจลกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง ที่จะทำงานพร้อมกัน โดยสามารถลดหรือขจัดความเจ็บปวดที่เกิดจากความเจ็บป่วยเรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เครื่อง Neurolumen

ที่มา:https://www.facebook.com/NeurolumenLLC/

 

นวัตกรรมจากพลังความรักของแม่ที่ต่อสู้กับความเจ็บปวดของลูกสาวนี้ยังทำให้ลูกสาวได้ใช้ชีวิตอย่างปกติจนมีครอบครัวและมีลูกได้ในที่สุด นวัตกรรม Neurolumen ใช้ได้กับผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคระบบประสาท เบาหวาน โรคหลอดเลือด โรคข้ออักเสบ เคมีบำบัด และการอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่มักพบในทหารผ่านศึก มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดแทบทุกประเภท

 

Mandy Haberman: แม่ผู้ให้อิ่ม

 

 

Mandy คุณแม่ผู้ถือใบปริญญาการออกแบบกราฟิก ผู้ซึ่งไม่เคยคาดหวังว่าตัวเองจะประดิษฐ์หรือเป็นนวัตกรได้เลย กลับกลายเป็นคุณแม่นักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแม่และลูกในศตวรรษที่ 21 หลากหลายชิ้น

 

จุดเปลี่ยนสำคัญจากนักออกแบบกราฟิกไปสู่นักประดิษฐ์ของเธอ เกิดขึ้นหลังจากลูกสาวคนที่ 3 Emily ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับภาวะ Stickler Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลต่อโครงสร้างใบหน้า ทำให้ทารกไม่สามารถดูดนมแม่หรือดูดนมจากขวดนมปกติได้ ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญของเธอในการออกแบบขวดนมแบบพิเศษในชื่อ “Haberman Feeder” เพื่อป้อนนมและอาหารให้กับลูกสาวผู้ซึ่งมีปัญหาในการกินให้สามารถกินได้เหมือนทารกคนอื่น    

 

Mandy Haberman และขวดนม Haberman Feeder 

ที่มา:https://mandyhaberman.com/resources

 

ในภายหลัง Haberman Feeder ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่สำคัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับป้อนอาหารทารกที่มีปัญหาการกินอาหาร เช่น ดาวน์ซินโดรม ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการปิแอร์ โรบิน ความผิดปกติของระบบประสาท โรคหลอดลมโป่งพอง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติทางพันธุกรรม และ ความผิดปกติของช่องปากและใบหน้า เป็นต้น 

 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา Mandy ยังได้สร้างสรรค์อุปกรณ์เพื่อคุณแม่และคุณลูกอีกมากมาย โดยมีที่มาจากปัญหาพื้นฐานที่เธอพบเจอในการเลี้ยงลูก เพื่อช่วยให้คุณแม่คนอื่น ๆ ได้เอาชนะอุปสรรคในการเลี้ยงทารกในช่วงขวบปีแรกได้ อาทิ แก้ว Anywayup Cup แก้วฝึกการกินของเด็ก ซึ่งฝาจะปิดโดยอัตโนมัติทันทีที่แก้วหลุดออกจากปากเด็กหลังจากเด็กดูดน้ำ เพื่อควบคุมการไหลของของเหลวจากแก้ว เป็นการแก้ปัญหาน้ำหกจากการดื่มน้ำของเด็กที่บรรดาคุณแม่และตัวเธอเองต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี เป็นต้น 

 

พลังแห่งความรักของคุณแม่เพื่อให้ลูกได้ก้าวข้ามอุปสรรคในการใช้ชีวิตนั้นยิ่งใหญ่เสมอ Tech By True Digital ขอร่วมเชิดชูหัวใจของคุณแม่ทุกท่าน ทั้งที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลูก เพื่อแม่ท่านอื่น และเพื่อโลก รวมถึงคุณแม่ทุกท่านที่ได้เป็นแรงบันดาลใจต่อการใช้ชีวิต ต่อการขับเคลื่อนความฝัน ต่อการปลดล็อกทุกความเป็นไปใด้กับชีวิตของลูกทุกคน  

 

______________________________



อ้างอิง:

https://mandyhaberman.com/

https://qz.com/vivienneming

https://www.forbes.com/

https://thezaky.com/

https://patient-innovation.com/

https://neurolumen.net/

https://mandyhaberman.com/inventions

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง