รีเซต

10 สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างจากหนังสือ Sci-Fi

10 สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างจากหนังสือ Sci-Fi
TNN ช่อง16
26 กันยายน 2566 ( 00:57 )
100

อัลเบิร์ต ไอสไตน์ (Albert Einstein) เคยบอกไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เป็นประเด็นเปิดให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาถกกัน แต่สำหรับบทความนี้น่าจะยืนยันสิ่งที่ไอสไตน์พูดไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะ 10 สิ่งประดิษฐ์ต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายไซไฟ (Sci-Fi) ก่อนจะนำความรู้มาพัฒนาจนมันสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน มีอะไรบ้าง มาดูกัน


1. เรือดำน้ำ 


ปัจจุบันมนุษย์สำรวจพื้นที่ใต้น้ำได้เพียงแค่ประมาณ 5% เท่านั้น และหากย้อนไปก่อนมนุษย์เราจะสามารถสร้างเรือดำน้ำได้ พื้นที่ที่เราสำรวจได้ก็ยิ่งน้อยไปอีก เรื่องความก้าวหน้านี้เราคงต้องขอบคุณนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ไซม่อน เลค (Simon Lake) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเรือดำน้ำสมัยใหม่ที่สร้างสรรค์เรือดำน้ำขึ้นมา หรือบางทีเราอาจจะต้องขอบคุณไปถึงนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อจูลส์ เวิร์น (Jules Verne) ที่ได้จุดประกายให้เลคสร้างเรือดำน้ำ


ทั้งนี้ไอเดียการออกสำรวจพื้นที่ใต้ท้องทะเลของเลค ได้มาจากตอนเป็นเด็กที่เขาอ่านหนังสือเรื่องใต้ทะเล 20,000 โยชน์ (Twenty Thousand Leagues Under the Sea) จนเมื่อโตขึ้นก็ได้สร้างเรือดำน้ำชื่ออาร์โกเนาท์ (Argonaut) โดยใช้เรือเนาติลุส (Nautilus) ในนิยายเป็นต้นแบบ และอาร์โกเนาท์ก็ถือเป็นเรือดำน้ำลำแรกที่ประสบความสำเร็จในการเดินเรือ


2. เฮลิคอปเตอร์ 


ไม่เพียงจุดประกายเรือดำน้ำเท่านั้น จูลส์ เวิร์นก็ได้จุดประกายในการสร้างเฮลิคอปเตอร์ด้วยเช่นกัน เรือเหาะในหนังสือเรื่องคลิปเปอร์แห่งหมู่เมฆ (Clipper of the Clouds) ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักบินชาวรัสเซียชื่ออิกอร์ ซิกอร์สกี้ (Igor Sikorsky) สร้างเฮลิคอปเตอร์ขึ้นมา ทั้งนี้ซิกอร์สกี้มักจะอ้างถึงคำพูดของเวิร์นอยู่เสนอว่า “อะไรก็ตามที่คนคนหนึ่งสามารถจินตนาการได้ อีกคนก็สามารถทำให้มันเป็นจริงได้” 


3. ยานอวกาศ


ปี 1898 นวนิยายคลาสสิกเรื่องสงครามล้างพิภพ (The War of the Worlds) ของเฮอร์เบิร์ต จอร์จ เวลส์ (Herbert George Wells) หรือที่รู้จักกันในนามปากกา เอช. จี. เวลส์ (H.G. Well) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อโรเบิร์ต เอช. ก็อดดาร์ด (Robert H. Goddard ) ได้อ่านมัน จนกระทั่งมันเป็นแรงบันดาลให้เขาสร้างยานอวกาศที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงได้สำเร็จเป็นลำแรกของโลกในวันที่ 16 เดือนมีนาคม 1926 ภายหลังก็อดดาร์ดได้ให้สัมภาษณ์ว่าแนวคิดเรื่องการบินระหว่างดวงดาวนั้นครอบงำจินตนาการของเขาเป็นอย่างมาก 


4. ระเบิดปรมาณู


อีกหนึ่งงานเขียนของเอช. จี. เวลส์ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้นวัตกรรมคือเรื่องโลกที่เป็นอิสระ (The World Set Free) ที่เผยแพร่เมื่อปี 1914 หนังสือเรื่องนี้เล่าถึงสงครามพลังงานปรมาณูที่จะเกิดขึ้นในปี 1933 ทำให้เกิดสงครามโลกที่รุนแรงมาก ก่อนที่สุดท้ายจะเกิดรัฐบาลโลกที่สงบสุขตามมา นักฟิสิกส์คนหนึ่งชื่อลีโอ ซิลาร์ด (Leo Szilard) ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ในปี 1932 และมันได้เป็นแรงบันดาลให้เขาทำการวิจัยเรื่องปฏิกิริยาลูกโซ่ของอนุภาคอะตอมได้สำเร็จในปีถัดมา 


5. ศูนย์บัญชาการต่อสู้


เราน่าจะเคยเห็นในหนังฮอลลีวูดแนวแอคชั่นอยู่บ้าง ที่มีหัวหน้าทหารคอยยืนบัญชาการต่อสู้ในห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าไอเดียศูนย์บัญชาการต่อสู้แบบนี้มาจากหนังสือนิยายเรื่องเลนส์เมน (Lensmen) ของนักเขียนนามปากกาอี.อี. “ด็อก” สมิท (E.E. “Doc” Smith) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในยุคปี 1930 พอมาถึงปี 1947 บรรณาธิการชื่อ จอห์น ดับเบิลยู. แคมป์เบลล์ (John W. Campbell) ก็ได้แจ้งสมิทไปว่าเรือบัญชาการที่ชื่อไดเรกทริกซ์ (Directrix) ในนิยายของสมิทนั้น ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กองทัพเรือสหรัฐฯ สร้างศูนย์บัญชาการต่อสู้ขึ้นมานั่นเอง


6. แขนกลวัลโด (Waldo)


อีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่เราน่าจะคุ้นตากันดีคือแขนจักรกลที่คอยทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนมนุษย์ แนวคิดนี้ได้ไอเดียมาจากเรื่องสั้นของนักเขียนชื่อดังอย่างโรเบิร์ต ไฮน์ไลน์ (Robert Heinlein) ในเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ปี 1942 เรื่องวัลโด เอฟ. โจนส์ (Waldo F. Jones) ซึ่งเป็นชื่อนักประดิษฐ์ตัวเอกในเรื่องที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง จึงสร้างแขนจักรกลมาทำงานแทนโดยควบคุมจากระยะไกล ไอเดียนี้ถูกนำไปพัฒนาแขนกลที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในช่วงกลางยุค 1940 และถูกตั้งชื่อว่า “วัลดอส (Waldos)” ตามตัวเอกในเรื่องนั่นเอง


7. โทรศัพท์มือถือ


ใครหลายคนคงกำลังอ่านบทความนี้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งประดิษฐ์ในหนังสือนิยายเหมือนกัน โดยเครื่องมือสื่อสาร (Communicator) ที่กัปตันเจมส์ เคิร์ก (James Kirk) ตัวละครเอกในนิยายสตาร์เทรค (Star Trek) ใช้นั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาของโมโตโรลา (Motorola) สร้างโทรศัพท์มือถือที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ เป็นฐานให้การพัฒนาโทรศัพท์มือถือมาจนถึงปัจจุบัน


8. ปืนไฟฟ้าเทเซอร์ (Taser)


นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่เราอาจจะไม่ค่อยเห็นในชีวิตประจำวันเท่าไหร่นัก แต่น่าจะคุ้นหูคุ้นตาในหนังอยู่บ้าง กับปืนไฟฟ้าที่เมื่อยิงไปยังคนแล้วก็จะเกิดอาการชอร์ต ปืนไฟฟ้าเครื่องแรกของโลกชื่อเทเซอร์ (Taser) ซึ่งย่อมาจาก Thomas A. Swift’s Electric Rifle หรือแปลเป็นไทยว่าปืนไรเฟิลไฟฟ้าของโทมัส เอ. สวิฟต์ (Thomas A. Swift)


โทมัส เอ. สวิฟต์ ไม่ใช่ชื่อของผู้สร้าง แต่เป็นชื่อนักประดิษฐ์อัจฉริยะ ตัวเอกในหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กชื่อเรื่องทอม สวิฟต์ และปืนไรเฟิลไฟฟ้าของเขา (Tom Swift and His Electric Rifle) ที่เขียนโดยเอ็ดเวิร์ด สเตรทเมเยอร์ (Edward Stratemeyer) หนังสือชุดนี้เป็นเล่มโปรดของนักฟิสิกส์นาซาชื่อ แจ็ค โคเวอร์ (Jack Cover) จนทำให้เขาสร้างปืนไฟฟ้าเทเซอร์ออกมาในที่สุด


9. โปรแกรมควิกไทม์ (QuickTIme)


ใครที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทแอปเปิล (Apple) ก็น่าจะคุ้นตาหรือเคยใช้โปรแกรมจัดการสื่อวิดีโอ ภาพ เสียง ฯลฯ ที่ชื่อควิกไทม์ (QuickTIme) โปรแกรมนี้สร้างโดยนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของแอปเปิลอย่างสตีฟ เพิร์ลแมน (Steve Perlman) ซึ่งแรงบันดาลใจของเขาก็มาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องสตาร์ เทรค: เดอะเน็กซ์เจเนอเรชัน (Star Trek: The Next Generation) ที่ตัวละครตัวหนึ่งเปิดฟังเพลงหลายเพลงบนคอมพิวเตอร์ เพิร์ลแมนได้ไอเดียจึงพัฒนาโปรแกรมควิกไทม์ให้แอปเปิล


10. เมตาเวิร์ส (Metaverse) และชีวิตจำลอง (Secon Life)


นวนิยายเรื่องสโนว์แครช (Snow Crash) ของนักเขียนนีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) ตีพิมพ์ในปี 1992 มันได้พูดถึงโลกเสมือนจริงที่เรียกว่า “เมตาเวิร์ส” ซึ่งผู้คนก็จะโต้ตอบกันผ่านอวตารที่ตัวเองสร้างเป็นตัวแทน โลกเสมือนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ฟิลิป โรสเดล (Philip Rosedale) ประดิษฐ์ชุมชนออนไลน์ที่ครั้งหนึ่งเคยโด่งดังมาก ๆ ชื่อเซค่อนไลฟ์ หรือแปลตรงตัวคือชีวิตที่สอง โรสเดลสนใจแนวคิดนี้มาตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย เขายกความดีความชอบให้สโนว์แครชที่สามารถทำให้เขาจินตนาการถึงโลกเสมือนจริงว่ามันจะมีลักษณะอย่างไร 


และอย่างที่ชาวเทคอาจจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปัจจุบันกับคำว่าเมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในโลกเสมือนจริง ซึ่งนั่นก็มีจุดเริ่มต้นมาจากนวนิยายเรื่องสโนว์แครชนี้เอง


อ่านมาจนถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายคนคงให้น้ำหนักกับคำคมของไอน์สไตน์มากขึ้น ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อีกทั้งยังเชื่อว่าน่าจะทำให้เราสำรวจโลกแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์มากขึ้น ว่ามีจินตนาการไหนที่น่าสนใจ และในอนาคตมันอาจจะกลายมาเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมที่สามารถพลิกโลกของเราก็ได้



ที่มาข้อมูล Smithsonianmag

ที่มารูปภาพ Smithsonianmag, Mikesmoviecave, Onverticality, Space, Spectrum, Britannica, Wikipedia, Metatime

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง