รีเซต

An Insight from a Tech Woman to #EmbraceEquity

An Insight from a Tech Woman to #EmbraceEquity
Tech By True Digital
22 มีนาคม 2566 ( 15:33 )
89
An Insight from a Tech Woman to #EmbraceEquity

An Insight from a Tech Woman to #EmbraceEquity เปิดมุมมองผู้หญิงสายเทคว่าอยาก #EmbraceEquity แบบใดให้กับโลกใบนี้

 

Tech By True Digital ชวนเปิดมุมมองผู้หญิงสายเทคกับแคมเปญ #EmbraceEquity ของวันสตรีสากลหรือ International Women’s Day 2023 โดย #EmbraceEquity หมายถึงการโอบรับความเสมอภาค ด้วยการตระหนักรู้และให้คุณค่ากับคุณสมบัติเฉพาะ ประสบการณ์ และความต้องการของแต่ละบุคคล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรที่จะเติบโตได้อย่างเท่าเทียมกัน 

 

ในโอกาสนี้ Tech By True Digital จึงนำบทสัมภาษณ์ผู้บริหารหญิงจาก True Digital Group คุณฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ Head of Information Security and Data Management Division, True Digital Group และ ดร.ชนนิกานต์ จิรา Head of Digital Academy, True Digital Group ที่มาเล่ามุมมองของผู้หญิงสายเทค ว่าจากบทบาทหน้าที่ของตนเองในแวดวงเทคโนโลยี ยังมีอะไรที่อยากพัฒนาเพื่อผู้หญิง หรืออยากใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการ #EmbraceEquity แบบใดให้กับสังคมและโลกใบนี้

 

คุณฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ 

Head of Information Security and Data Management Division, True Digital Group

“การ #EmbraceEquity ต้องมากกว่าเพศสภาพแต่เป็นความหลากหลายของคน”

คุณฐิติรัตน์ หรือ คุณหนุ่ย คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีมานานกว่า 23 ปี โดยปัจจุบันคุณหนุ่ย ดำรงตำแหน่ง Head of Information Security and Data Management Division หรือหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ ของ True Digital Group ดูแลรับผิดชอบกลุ่มธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ที่ให้บริการความปลอดภัยทางไซเบอร์แบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ติดตั้ง บริหารจัดการระบบความปลอดภัย ตรวจจับภัยคุกคามและแก้ไขสถานการณ์แบบอัตโนมัติ รวมทั้งการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ PDPA เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

 

โดยล่าสุด คุณหนุ่ยเพิ่งได้รับรางวัล “Transformative CIO" ประจำปี 2565 จากนิตยสาร ET CIO South East Asia ในฐานะผู้บริหารดีเด่นที่เปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์การทำงานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นผู้นำขับเคลื่อนให้เกิดการทรานสฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลและนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์แพลตฟอร์มการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพและยังเป็นผู้บริหารที่ให้ความสำคัญต่อการแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญแก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง

 

รางวัล “Transformative CIO" ประจำปี 2565 จากนิตยสาร ET CIO South East Asia

ที่มา: https://www.truedigital.com/ 



สำหรับคุณหนุ่ยแล้ว ความท้าทายของการทำงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ เพราะด้วยความหลากหลายของงานต่าง ๆ ในกลุ่มธุรกิจนี้ ทำให้ไม่ว่าเพศสภาพใด ก็สามารถปฏิบัติงานได้เช่นเดียวกัน หากแต่การทำตัวเองให้ทันต่อความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และภัยคุกคามทางไซเบอร์ใหม่ ๆ ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถตรวจจับและหยุดยั้งภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงทีต่างหากคือความท้าทายในสายงานนี้ที่แท้จริง

 

“ ความเป็นผู้หญิงอาจทำให้ต้องมีบทบาทเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานนั่นคือบทบาทของการเป็นแม่และการดูแลครอบครัว แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความสามารถในการทำงานแตกต่างจากเพศอื่นเลย ” 

 

คุณหนุ่ยและทีมงานทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้

ที่มา: https://www.truedigital.com/  

 

An Insight from a Tech Woman to #EmbraceEquity

มองจากมุมของความเป็นผู้หญิง คุณหนุ่ยมองว่าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเปิดกว้างเพื่อผู้หญิงและทุกเพศสภาพแล้ว แต่ยังหวังที่จะเห็นผู้หญิงหรือเพศสภาพหญิงทำงานสายเทคมากขึ้น ซึ่งการที่ผู้หญิงยังทำงานในแวดวงนี้อยู่ไม่มากเท่าที่ควร อาจเพราะยังมีความเชื่อว่างานในสายเทค คอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมไอที นั้นเป็นงานสำหรับผู้ชาย แต่นั่นเกิดจากความเชื่อแบบเดิมและความรู้อันจำกัดว่างานในสายเทคนั้นมีหลากหลายประเภท การเริ่มต้นให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ เนื้อหาของงาน และการเติบโตในสายอาชีพโดยเฉพาะงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้นั้นจึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญและควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับมัธยม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเตรียมพร้อมคนสำหรับสายงานนี้ เพราะภายในปี 2025 โลกต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์กว่า 6 ล้านคน ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ที่กำลังเข้าสู่สายงานนี้ที่ไม่ได้จำกัดเพศสภาพอีกต่อไป 

 

“ ผู้หญิงอาจมีความละเอียดอ่อนมาก ยิ่งเหมาะกับงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เช่น การดูแลเคสต่าง ๆ แต่ Soft Skills บางประการที่จำเป็น เช่น ความสามารถในการโน้มน้าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นถึงความสำคัญของ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ การบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง หรือการสื่อสาร ก็ไม่ได้ถูกกำหนดโดยเพศสภาพเช่นเดียวกัน เพศหญิง เพศชาย หรือ LGBTQ+ หากมีทักษะทางสังคมเหล่านี้ ก็สามารถทำงานนี้ได้ ”

 

คุณหนุ่ยและทีมงานทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้

ที่มา: https://www.truedigital.com/  

 

ซึ่งหากถามถึงการ #EmbraceEquity เพื่อความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพในการทำงานนั้น คุณหนุ่ยจึงมองลึกไปมากกว่านั้น เพราะความเท่าเทียมที่เธออยากให้สังคมโอบกอด คือ การเปิดรับความหลากหลายของคนในการทำงานที่ ไม่ใช่แค่เพศหญิง เพศชาย หรือ LGBTQ+ แต่ยังรวมไปถึงผู้คนที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายบางประการ แต่มี Passion และชื่นชอบในงานที่ทำ การ #EmbraceEquity ในแบบนี้ต่างหากที่เธอหวังอยากให้เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม เพราะเมื่อเราเข้าใจความเสมอภาคที่เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของผู้คนแล้ว มันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคนจากศักยภาพของมนุษย์อย่างเท่าเทียม

 

“ การ #EmbraceEquity ที่มากกว่าเพศสภาพแต่เป็นความหลากหลายของคน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายคือสิ่งที่อยากเห็นในที่ทำงาน อยากให้เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม เพราะนี่คือความเสมอภาคอย่างเท่าเทียม ที่เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของคนอย่างแท้จริง”

 

 

คุณหนุ่ยทิ้งท้ายไว้ว่ายังหวังที่จะเห็นผู้หญิงก้าวเข้ามาทำงานในสายเทคมากขึ้นกว่านี้ และได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้นำในองค์กรสายเทคซึ่งโอกาสเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งเธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเพศสภาพไม่ใช่ตัวกำหนดความสามารถในบทบาทหน้าที่ของการทำงาน 



ดร.ชนนิกานต์ จิรา 

Head of Digital Academy, True Digital Group

“ความรู้เป็นเครื่องมือแห่งโอกาสที่จะ #EmbraceEquity อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม”

 

ดร.ชนนิกานต์ จิรา หรือ ดร.เฟิร์น ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of True Digital Academy ซึ่ง True Digital Academy เป็นหน่วยธุรกิจของ True Digital Group ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ตลอดจนพัฒนา Talent Solutions ให้แก่บุคลากรและองค์กรในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

เพราะเป็นหัวเรือใหญ่ของหน่วยธุรกิจนี้ ทำให้ ดร.เฟิร์นต้องเข้าใจและรับรู้ภาพรวมทั้งหมดของ True Digital Academy ตั้งแต่กลยุทธ์ การตลาด การพัฒนาโปรแกรมด้านการเรียนรู้ใหม่ ๆ ตลอดจนการสร้างและดูแลการเติบโตของระบบนิเวศ True Digital Academy ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้เรียน ทีมผู้สอน และพันธมิตรต่าง ๆ แต่หมายรวมถึงทีมงานของตนเองด้วย

 

ดร.เฟิร์นลลงนาม MoU พัฒนาหลักสูตรและอบรมทักษะดิจิทัลให้แก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หลักสูตร Introduction to Digital Age โดย True Digital Academy

ที่มา: https://www.facebook.com/TrueDigitalGroup/

 

ดร.เฟิร์นมองว่านอกจากความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรในไทยให้มีทักษะความสามารถด้านดิจิทัลทัดเทียมกับสากลซึ่งคือหัวใจของ True Digital Academy แล้ว ยังจำเป็นต้องเข้าใจตลาดแรงงานสมัยใหม่และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา การช่วย Upskill และ Reskill ทักษะของคนจะช่วยให้บุคลากรและองค์กรสามารถ “Stay Relevant” หรือคงความสำคัญได้ และไม่ปิดกั้นโอกาสที่จะ “Reinvent” หรือค้นพบตัวเองได้ใหม่อยู่เรื่อย ๆ ได้เจอโอกาสใหม่ และสิ่งใหม่ที่ตัวเองชอบ

 

ซึ่งความท้าทายในการทำงานที่ถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายด้านนี้เองจึงมีขอบเขตที่กว้างไกลกว่ามิติของเพศสภาพ แต่คือการโฟกัสไปที่ว่าได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้แล้วหรือยัง และการผลักดันธุรกิจให้รุดไปข้างหน้าถูกทำควบคู่ไปกับการดูแลคนในทีมให้เติบโตแล้วหรือไม่ 

 

“ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการผลักดันธุรกิจไปพร้อมกับการดูแลคนในทีมเพื่อให้สอดคล้องกับเส้นทางการเติบโตรายบุคคล และการสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมของทีม ให้เป็นที่ที่เอื้อแก่การเติบโตตามเส้นทางเฉพาะและตามความหมายในการทำงานของแต่ละคน”

 

ดร.เฟิร์นและทีมงาน True Digital Academy

 

An Insight from a Tech Woman to #EmbraceEquity

แม้จะเชื่อมั่นว่าผู้หญิงนั้นมีความสามารถและทำงานในสายงานเทคได้ไม่แพ้เพศสภาพใด แต่ ดร. เฟิร์นก็ยอมรับว่าเมื่อดูตัวเลขจากตลาดแรงงานแล้ว ยังถือว่ามีผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในแวดวงนี้เป็นจำนวนน้อย กล่าวคือ แรงงานผู้หญิงที่อยู่ในวงการเทคมีเพียง 25% ของแรงงานทั้งหมด และน้อยลงอีกในตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งมีเพียง 11% เท่านั้น อ้างอิง 1

 

จากการเป็นผู้บริหารหญิงในสายงานเทคนี้เอง ดร.เฟิร์นจึงมีแนวคิดที่กำลังทำอยู่และพยายามทำต่อไปเพื่อปิดช่องว่างนี้ด้วยการเปิดมุมมองให้กับผู้หญิงทุกคนที่ไม่จำเป็นต้องทำงานในสายเทคแต่มีความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเติบโตไปร่วมกัน ด้วยการเป็น Mentor หรือให้คำปรึกษากับผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในวงการเทคหรืออุตสาหกรรมใด เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเติบโตและเส้นทางที่เหมาะสมในแบบฉบับของตนเอง มากไปกว่านั้น ดร.เฟิร์นเชื่อว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้หญิงควรได้มีโอกาสเห็นตัวอย่างหรือ Role Model ที่เป็นผู้หญิงในลักษณะหรือสไตล์ที่ตรงกับตนเอง เข้าถึงได้ เพื่อนำไปปรับให้เข้ากับตัวเอง และการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความท้าทายเพื่อให้เติบโตไปร่วมกัน 

 

ในขณะเดียวกัน ความท้าทายเรื่องการพัฒนาศักยภาพของ ‘คน’ ภายใต้ True Digital Academy จึงทำให้มุมมองที่จะสร้างสังคมที่เท่าเทียมและการ #EmbraceEquity ให้กับโลกใบนี้ของดร.เฟิร์น คือการสนับสนุนกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี สิ่งสำคัญคือการตระหนักถึงคุณสมบัติเฉพาะของคนแต่ละคน แล้วให้เครื่องมือแห่งโอกาสที่ True Digital Academy มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ กิจกรรม ทุนสนับสนุน ตลอดจนระบบนิเวศและเครือข่ายที่สร้างขึ้น เพื่อให้คนได้เพิ่มพูนความรู้และศักยภาพตนเอง ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพและความเป็นอยู่ เพิ่มการเข้าถึงโอกาสและการจ้างงาน เพิ่มโอกาสการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ทั้งตนเองและองค์กร เพื่อให้ที่สุดแล้วการพัฒนาศักยภาพตนเองที่เน้นการตอบโจทย์รายบุคคคล จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่บนเส้นทางที่เหมาะกับคุณสมบัติเฉพาะ ประสบการณ์ และความต้องการของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ดร.เฟิร์นมองว่านี่คือการ #EmbraceEquity หรือความเท่าเทียมที่แท้จริง

 

ดร.เฟิร์นระหว่างบรรยายคอร์ส Digital Transformation Canvas Workshop โดย True Digital Academy 

ที่มา: https://www.facebook.com/TrueDigitalAcademy/

 

เมื่อถามถึงการ #EmbraceEquity เพื่อความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพในการทำงาน ดร.เฟิร์นบอกไว้อย่างน่าประทับใจว่า ที่ True Digital Academy นั้น แนวคิดความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นวัฒนธรรมของทีม การสร้างความรู้สึกปลอดภัยแก่ทุกเพศสภาพคือการ #EmbraceEquity โอบรับความเท่าเทียมที่ True Digital Academy ทำจนเป็นบรรทัดฐาน ทำจนเป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐาน จนแทรกซึมอยู่ใน DNA 

 

“เรามี DNA ของทีมที่ #EmbraceEquity เพื่อความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐาน เราสร้างบรรยากาศการทำงานและวัฒนธรรมของทีมที่เปิดกว้าง ให้เกียรติ และให้ความรู้สึกปลอดภัยและเสมอภาคแก่ทุกเพศสภาพ และเป็น The Best Place to Work สำหรับทุกคน”



 

ดร.เฟิร์นหวังให้ความเสมอภาคจะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานการดำเนินชีวิตและการทำงาน ที่คนทุกคนตระหนักรู้และกลายเป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติต่อกัน และยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาไปสู่สังคมแห่งความเสมอภาคที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ

 

สิทธิและความเท่าเทียมของทุกเพศสภาพเป็นสิ่งที่สังคมตระหนักรู้ และให้ความสำคัญ แม้ในวันนี้เพศสภาพจะไม่ใช่ตัวกำหนดความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกต่อไป แต่กว่าจะถึงวันที่สังคมไม่นำเพศสภาพมากำหนดคุณค่านี้ ก็มีผู้หญิงอีกหลายคนซึ่งได้ต่อสู้กับมายาคติทางเพศเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวันนี้ Tech By True Digital ขอร่วมชื่นชมผู้หญิงทุกคนและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค คำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคลและสร้างความมั่นใจว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าเป็นเพศสภาพใด 

 

---------------------------------------------



อ้างอิง: 

  1. https://www.eu-startups.com

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง