รีเซต

วัตถุลึกลับบนชายหาดในออสเตรเลีย อาจเป็นชิ้นส่วนยานเอเลี่ยน

วัตถุลึกลับบนชายหาดในออสเตรเลีย อาจเป็นชิ้นส่วนยานเอเลี่ยน
TNN ช่อง16
19 กรกฎาคม 2566 ( 16:10 )
93
วัตถุลึกลับบนชายหาดในออสเตรเลีย อาจเป็นชิ้นส่วนยานเอเลี่ยน

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา องค์การอวกาศออสเตรเลีย (Australian Space Agency) ได้ทวีตภาพวัตถุลึกลับบนชายหาดใกล้อ่าวจูเรียน ประเทศออสเตรเลีย โดยองค์การอวกาศออสเตรเลียชี้ว่าวัตถุนี้อาจเป็นชิ้นส่วนจากต่างดาว ซึ่งทางองค์กรกำลังติดต่อกับบริษัทผลิตยานอวกาศทั่วโลก เพื่อระบุว่าชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นของยานอวกาศใดที่ผลิตขึ้นบนโลกหรือไม่ ก็ต้องมารอลุ้นอีกที หลังจากที่มีการตรวจสอบแล้วเสร็จ

หรือจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดลันช์ เวียเคิล มาร์ค 3 (Launch Vehicle Mark 3) 

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ (Twitter) บางส่วนคาดเดาว่าวัตถุนี้อาจเป็นชิ้นส่วนของจรวดลันช์ เวียเคิล มาร์ค 3 (Launch Vehicle Mark 3) ที่ใช้ส่งภารกิจจันทรายาน 3 (Chandrayann 3) ของประเทศอินเดียขึ้นสู่ดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา


แต่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากภาพถ่ายของวัตถุดังกล่าวที่ถูกทวีตโดยองค์การอวกาศออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่ามีสาหร่าย, เพรียงห่านและสัตว์ทะเลขนาดเล็กอื่น ๆ ติดอยู่กับวัตถุ ซึ่งพวกเขาอ้างอิงข้อมูลจากนิตยสารโบ้ท เวิล์ด (Boating World) ที่เป็นนิตยสารเกี่ยวกับเรือว่า วัตถุที่จมลงไปใต้น้ำจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะถูกเกาะด้วยเพรียง


อนุสัญญาความรับผิดหากขยะอวกาศก่อให้เกิดอันตราย 

ในทางกลับกัน วัตถุลึกลับดังกล่าวอาจเป็นขยะอวกาศที่ตกลงมาบนพื้นโลก อ้างอิงจากเหตุการณ์ในปี 1979 ที่ชิ้นส่วนสถานีอวกาศสกายแล็ป (Skylab) ของนาซา (NASA) ตกลงสู่พื้นโลกในบริเวณชนบทของประเทศออสเตรเลีย


โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกอนุสัญญาความรับผิด เมื่อปี 1972 ว่าด้วยความรับผิดชอบหากขยะอวกาศก่อให้เกิดอันตรายเมื่อกลับสู่โลก ซึ่งมีการใช้เพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์อวกาศ เมื่อดาวเทียมนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตที่รู้จักกันในชื่อคอสมอส 954 (Kosmos 954) ตกลงสู่พื้นโลกในประเทศแคนาดาเมื่อปี 1978


ในท้ายที่สุด ประเทศแคนาดาและสหภาพโซเวียตได้ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด (โดยไม่ขึ้นกับอนุสัญญา) เป็นเงิน 3 ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งเทียบเท่ากับ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 หรือประมาณ 340 ล้านบาท


ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก Australian Space Agency

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง