บ.เวชภัณฑ์อินเดียจับมือ ม.วอชิงตัน ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19
(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูก ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครหริทวาระของอินเดีย วันที่ 19 ก.ย. 2020)
มุมไบ, 23 ก.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (23 ก.ย.) ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของอินเดียออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ทำสัญญากับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ ในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรีของสหรัฐฯ มีสิทธิ์ในการพัฒนา ดำเนินการทดลองทางคลินิกและจัดจำหน่ายวัคซีนที่สร้างจากไวรัสไข้หวัดของลิงชิมแปนซีชนิดใหม่ อันเป็นวัคซีนชนิดพ่นเข้าทางจมูกแบบใช้ครั้งเดียวสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ข้อตกลงระบุว่า ภารัต ไบโอเทค มีสิทธิ์จัดจำหน่ายวัคซีนในตลาดทุกแห่งยกเว้นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป
ขณะที่มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ดำเนินการทดลองวัคซีนดังกล่าวในระยะที่ 1 ทางภารัต ไบโอเทคจะดำเนินการทดลองทางคลินิกในอินเดียต่อไปและดำเนินการผลิตวัคซีนขนานใหญ่ที่โรงงานไฮเดอราบาด ซึ่งอยู่ห่างจากบังคาลอร์ไปทางเหนือ 569 กิโลเมตร
ดร. กฤษณะ เอลลา ประธานและกรรมการผู้จัดการของภารัต ไบโอเทค แสดงความภาคภูมิใจในการร่วมผลิตวัคซีนอันเป็นนวัตกรรมใหม่นี้ พร้อมระบุว่าพวกเขาจะปรับการผลิตปริมาณวัคซีนดังกล่าวเป็น 1 พันล้านโดส
"โดสวัคซีนชนิดฉีดพ่นทางจมูกนี้ไม่เพียงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถป้องกันการแพร่กระจายของโรคดังกล่าวด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเซลล์ที่อยู่ตามแนวจมูกและลำคอด้วย ถือเป็นความสามารถพิเศษที่ยังไม่พบในวัคซีนตัวอื่นๆ ที่ยังอยู่ภายใต้การพัฒนา" เดวิด ที. คูเรียล ผู้อำนวยการศูนย์บำบัดทางชีววิทยาและศาสตราจารย์ด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน แห่งเมืองเซนต์หลุยส์กล่าว
ดอกเตอร์ คูเรียล ยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารชั่วคราวของ พรีซิชัน วีโรโลจิกส์ (Precision Virologics) บริษัทวัคซีนที่กำลังพัฒนาวัคซีนอดิโนไวรัสรุ่นใหม่ด้วย
วัคซีนตัวนี้ได้เพิ่มจำนวนกลุ่มผลิตภัณฑ์วัคซีนของภารัต ไบโอเทค ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและระหว่างขั้นตอนต่างๆ ของการพัฒนาทางคลินิก อันรวมถึงวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังเข้าสู่การทดลองทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 2 ในอินเดีย
ภารัต ไบโอเทค ซึ่งมีสิทธิบัตรระดับโลกกว่า 140 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทวัคซีนมากกว่า 16 รายการ และผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ (bio-therapeutics) 4 ชนิด ได้ส่งมอบวัคซีนให้คนทั่วโลกถึง 4 พันล้านโดสแล้ว
ขณะนี้ อินเดียมีสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 รวมสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 968,377 ราย ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิต 90,020 ราย