BGCเตี้ยอุ้มค่อม เพิ่มทุนแบกภาระ ซื้อกิจการขาดทุน
ทันหุ้น –สู้โควิด –BGC ทุ่มงบเกือบ 4 พันล้านบาท ซื้อ 3 บริษัทจากผู้ถือหุ้นใหญ่ “บางกอกกล๊าส” หนุนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรมากขึ้น แถมมีฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น พร้อมเพิ่มทุนเสนอขายกับผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 0.35294 หุ้นใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 10.20 บาท พ่วงวอร์แรนต์ให้กับผู้ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ด้านโบรกมองเป็นลบ คาดยังไม่ได้รับประโยชน์การซื้อกิจการมากนัก เหตุหนึ่งในบริษัทที่ซื้อยังมีผลประกอบการที่ขาดทุน
นายวรภพ ทักษพันธุ์ เลขานุการบริษัท บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่าคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนใน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP) บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP)และบริษัท กบินทร์บุรีกล๊าสอินดัสทรี จำกัด (KBI) โดยซื้อหุ้นจากบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท จึงเป็นการทำรายการที่เกี่ยวโยง ในมูลค่าไม่เกิน 3,978 ล้านบาท
ทั้งนี้คาดว่าการได้มาทั้ง 3 บริษัทจะสามารถสร้างรายได้จากาการขายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการพัฒนาศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์แก้วเดิมที่อาจมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างออกไป รวมถึงผ่านทางลูกค้ากลุ่มใหม่ของบริษัทโดยผ่านฐานลูกค้าเดิมของ BVP และ BGP ในปัจจุบัน
*บอร์ดไฟเขียวเพิ่มทุน
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัท BGC ได้อนุมัติการเพิ่มทุน โดยเป็นการเพิ่มทุนแบบกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้เงินทุน จำนวน 333.96 ล้านหุ้น โดยจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำนวน 245.10 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 0.35294 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 10.20 บาท กำหนดวันจองซื้อหุ้นในวันที่ 19-25 มกราคม 2564 และหุ้นเพิ่มทุนอีกจำนวน 88.86 ล้านหุ้นจัดสรรเพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิชุดที่ 1 หรือ BGC-W1 ที่จะออก โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้น ในอัตรา 1 หุ้นใหม่ต่อ 0.36256 วอร์แรนท์ ราคาเสนอขาย 0 บาท นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้อนุมัติการเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป โดยออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 69.44 ล้านหุ้น เพื่อจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด
โดยการเพิ่มทุนดังกล่าว เนื่องจากธุรกิจของบริษัทมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแผนการลงทุนเพื่อเป็นผู้นำในด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการเข้าซื้อหุ้นสามัญของ BVP , BGP และ KBI รวมถึงใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อเสริมสภาพคล่องและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท รวมถึงเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่สำหรับแผนการลงทุนเพื่อขยายกิจการในอนาคต โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท
*ออกวอร์แรนต์รองรับ
นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้อนุมัติการออก BGC-W1 จำนวนไม่เกิน 88.86 ล้านหน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อ 0.36256 วอร์แรนต์ โดยราคาเสนอขายไม่คิดมูลค่า อัตราการใช้สิทธิ วอร์แรนต์ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาใช้สิทธิ 7.877 บาทต่อหุ้น โดยวอร์แรนต์ดังกล่าวมีอายุ 2ปี นับตั้งแต่วันที่ออก
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเบื้องต้นเป็นลบต่อการที่ BGC เข้าซื้อกิจการ และเพิ่มทุนครั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าบริษัทยังไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้าซื้อกิจกาจมากนัก อีกทั้งยังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเป็นจำนวนมากในขณะนี้ โดยเฉพาะ KBI ยังมีผลขาดทุนต่อเนื่อง โดยในปี 2561 และ 2562 ขาดทุน 116 ล้านบาท และ 197 ล้านบาทตามลำดับ
นอกจากนี้การที่ BGC มีการเพิ่มทุนจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม รวมถึงการออกวอร์แรนต์ และเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป เพื่อเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัดนั้น ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น 58% คิดเป็น EPS dilution สูง 37% ซึ่งเป็นระดับที่สูง จึงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน