รีเซต

หนุ่มถามลาบวชแบบใด? บริษัทอนุมัติแต่ต้องพกคอมพ์ฯ เวิร์คฟอร์มกุฏิ ชาวเน็ตถกสนั่น

หนุ่มถามลาบวชแบบใด? บริษัทอนุมัติแต่ต้องพกคอมพ์ฯ เวิร์คฟอร์มกุฏิ ชาวเน็ตถกสนั่น
TNN ช่อง16
5 มิถุนายน 2567 ( 14:45 )
29

เป็นเรื่องราวที่กำลังเป็นไวรัลในหมู่ของคนทำงานอยู่ในขณะนี้ เมื่อมีชายหนุ่มรายหนึ่งได้ตั้งคำถามชาวเน็ตลงในกลุ่มหางาน ว่าตนเองนั้นลาบวช บริษัทอนุมัติให้ลาบวชได้ แต่ต้องเอา notebook ไป work from กุฏิด้วย แบบนี้ปกติไหม? 


เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นไม่บ่อย ทำให้ชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยระบุว่าในกรณีอาจทำได้ในเรื่องของการช่วยเหลือทีมแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างก็มองว่าผู้ลาอาจจะเป็นคนสำคัญ บริษัทอาจต้องการความช่วยเหลือในบางเคส ในขณะที่อีกฝ่ายระบุว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เพราะลาคือลา ใช้สิทธิตามที่กำหนด ลาบวช คือการตัดขาดจากทางโลก และ การทำงานในผ้าเหลืองไม่ใช่กิจที่ควรจะเป็นของสงฆ์ 


อย่างไรก็ตามชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นเรื่องขำขัน อาทิ ‘มีโอกาสไม่มากที่หัวหน้าที่จะกราบนมัสการก่อนตามงาน’   ‘เวลาประชุมจะทำอย่างไร ต้องเรียกหลวงพี่ด้วยไหม’  หรือ ไม่ต้องกลัวโดนด่า ด่าพระเท่ากับบาป เป็นต้น 


ทั้งนี้เจ้าของกระทู้ระบุว่า ตนเองนั้นทำงานสาย IT เป็นฝ่ายซัพพอร์ต ทางด้านแอปพลิเคชั่นแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการให้บริการ 24 ชั่วโมง งานเลิก แต่ transaction ไม่เลิก เวลาเกิดปัญหาก็ต้องแก้ ไขทันทีเพราะเป็นงานที่รอไม่ได้ แต่ทางบริษัทไม่ได้รับคนเพิ่มมาแยกกะ ให้เลยต้องรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของการโดนให้เวิร์คฟอร์มกุฏิ 



ตามกฏหมายแรงงานจริงๆแล้ว ‘ลาบวช’ ได้ไหม? 


ในส่วนของงานราชการนั้น ถูกระบุไว้ชัดเจนว่า สามารถลาบวชได้ 120 วัน ต้องยื่นขอลาล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน โดยจะต้องรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แต่ตามกฎหมายแรงงานยังไม่มีกำหนดเรื่องสิทธิการลาบวชสำหรับองค์กรเอกชนไว้ใน พรบ.คุ้มครองแรงงาน ดังนั้นองค์กรเอกชนแต่ละองค์กรจึงสามารถกำหนดสิทธิวันลาบวชได้เอง โดย HR สามารถจัดให้เป็นสวัสดิการบริษัทเพิ่มเติมจากที่กฎหมายแรงงานกำหนด


‘ลาบวช’ แต่ต้องทำงาน สะท้อนข้อมูล ‘สภาพพัฒน์’ คนไทยเครียด - เวิร์คไร้บาลานซ์ ไม่เกินจริง


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนกระทู้จะถูกตั้งจนเป็นไวรัล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดข้อมูลสภาวะสุขภาพจิตของคนไทย โดยวัยทำงานนั้นต้องเผชิญกับความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 65 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป 


นอกจากนี้เจ้าของกระทู้ยังได้แชร์เรื่องราวของหัวหน้าในตำแหน่ง Senior บริษัทเดียวกันต้องเผชิญกับโรควิตกกังวล สะดุ้งตื่นช่วงตี 2 - 3 เพราะรู้สึกว่าเหมือนมีคนโทรมาทั้ง ๆที่ไม่มีงานอะไร จนกลายเป็นวิตกจริต แต่ลาออกไม่ได้เพราะอายุมากแล้ว  ซึ่งเหตุการณ์นี้เองก็สอดคล้องกับผลการศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน อีกทั้งข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 66 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย


ข้อมูลจาก: รวบรวมโดย TNN ONLINE , สภาพัฒน์ฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง