เร่งพืชโตไวด้วย "ฟิล์มติดกระจก" เคลือบสารพิเศษเปลี่ยนรังสี UV เป็นแสงสีแดง
การปลูกพืชในโรงเรือน ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่พืชที่ปลูกได้ และมีแนวโน้มที่พืชในโรงเรือนจะเติบโตได้ดีกว่าพืชที่ปลูกทั่วไปด้วย แต่ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาฟิล์มที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชได้ดียิ่งขึ้น
จากหลักการดั้งเดิม การเจริญเติบโตของพืชจะอาศัยแสงอาทิตย์ในช่วงคลื่นสีแดงและสีฟ้าเป็นหลัก แม้พืชจะสามารถใช้รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet หรือรังสียูวี) ในการเจริญเติบโตได้ แต่ไม่ใช่ช่วงคลื่นที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช นั่นหมายความว่าหากนักวิจัยสามารถรวบรวมแสงในช่วงคลื่นสีแดงหรือสีฟ้าให้มากขึ้น ก็เสมือนการเติมปุ๋ยให้พืชเจริญเติบโตได้รวดเร็วมากขึ้นด้วย
ทีมนักวิจัยจึงพัฒนาฟิล์มชนิดพิเศษ เรียกว่า WCM (Wavelength-Converting Material) โดยเป็นฟิล์มพลาสติกติดกระจกแบบที่ขายกันทั่วไปในเชิงพาณิชย์ แต่จะถูกเคลือบด้วยแร่ยูโรเพียม (Europium) ซึ่งมีคุณสมบัติเปลี่ยนรังสีอัลตราไวโอเลตให้กลายเป็นแสงในช่วงคลื่นสีแดงได้ และยังปล่อยแสงอาทิตย์ให้ผ่านได้อย่างอิสระ
จากการทดสอบพบว่า การเติบโตของพืชที่ปลูกภายใต้เรือนกระจกที่ติดฟิล์ม WCM และไม่ได้ติดฟิล์ม ในช่วงฤดูร้อนการเจริญเติบโตของพืชไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวที่มีความเข้มข้นของรังสีจากดวงอาทิตย์ลดลง พืชที่ปลูกภายใต้เรือนกระจกติดฟิล์ม WCM จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า โดยมีความสูงมากกว่า 1.2 เท่า และมีมวลชีวภาพมากกว่า 1.4 เท่า ภายในระยะเวลา 63 วัน เมื่อเทียบกับพืชที่ปลูกภายใต้เรือนกระจกธรรมดา
ทีมนักวิจัยเชื่อว่าในอนาคตจะมีเกษตรกรนำฟิล์มติดกระจกนี้ไปใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (หรืออาจติดมาให้จากโรงงานขายกระจกเลยก็เป็นได้) ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึงน้อย ทั้งนี้ อาจจะต้องปรับปรุงให้ฟิล์ม WCM สามารถผลิตออกมาได้ในปริมาณมากและมีราคาถูกเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Inceptive Mind