ต้นไม้คุยกับแมลงได้! งานวิจัยใหม่ชี้พืชสื่อสารด้วยเสียง แถลมแมลงฟังและตอบสนองได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ค้นพบหลักฐานชี้ว่าพืชสามารถส่งเสียงความถี่สูงออกมาเมื่ออยู่ในภาวะเครียด และแมลงอย่างผีเสื้อกลางคืนสามารถตรวจจับเสียงเหล่านี้เพื่อตัดสินใจเลือกสถานที่วางไข่ได้ โดยผลการศึกษาล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ในวารสาร eLife ซึ่งอาจปูทางไปสู่การเปิดมิติใหม่ด้านการศึกษาการสื่อสารด้วยเสียงในธรรมชาติ
ทีมวิจัยนำโดย ดร.รยา เซลต์เซอร์ และกาย เซอร์ เอเชล จากห้องปฏิบัติการของศาสตราจารย์โยสซี โยเวล และศาสตราจารย์ลิลัค ฮาดานี แห่งคณะวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ได้ทำการทดลองกับต้นมะเขือเทศ โดยก่อนหน้านี้ทีมเดียวกันเคยค้นพบว่าพืชสามารถปล่อยคลื่นเสียงอัลตราโซนิกเมื่อเผชิญกับความเครียด เช่น ภาวะขาดน้ำ โดยเสียงอัลตราโซนิกดังกล่าวอยู่ในช่วงความถี่ที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยิน แต่สัตว์บางชนิด เช่น แมลงและค้างคาว สามารถตรวจจับได้
งานวิจัยล่าสุดจึงมุ่งสำรวจว่าแมลงจะตอบสนองต่อเสียงจากพืชอย่างไร
ในการทดลอง นักวิจัยได้นำต้นมะเขือเทศสุขภาพดีสองต้นมาตั้งคู่กัน ต้นหนึ่งมีลำโพงเปิดเสียงที่บันทึกจากต้นมะเขือเทศซึ่งอยู่ในภาวะขาดน้ำ อีกต้นไม่มีเสียง จากนั้นปล่อยผีเสื้อกลางคืนเพศเมียให้เลือกต้นที่เหมาะสมสำหรับวางไข่
ผลปรากฏว่า ผีเสื้อเลือกวางไข่บนต้นที่ไม่มีเสียงอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าเสียงจากพืชมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของแมลงโดยตรง นอกจากนี้ การทดลองอื่น ๆ ยังพบว่าผีเสื้อไม่แสดงปฏิกิริยาใด ๆ เมื่อเปิดเสียงอัลตราโซนิกจากผีเสื้อเพศผู้ ซึ่งยืนยันว่าแมลงตอบสนองเฉพาะเสียงจากพืชเท่านั้น
ศาสตราจารย์ลิลัค ฮาดานี กล่าวว่า “เราได้เห็นว่าสัตว์บางชนิดสามารถรับรู้และตีความเสียงที่พืชปล่อยออกมาได้ นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีสัตว์อีกมากที่อาจมีปฏิกิริยาต่อเสียงจากพืชหลากหลายชนิดในธรรมชาติ”
การค้นพบครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจกลไกการสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตร การควบคุมศัตรูพืช และการอนุรักษ์ระบบนิเวศในอนาคต
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
