รีเซต

ล้ำไปอีกขั้น ! สหรัฐอเมริกาจะใช้หุ่นยนต์ก่อสร้างฐานบนดวงจันทร์

ล้ำไปอีกขั้น ! สหรัฐอเมริกาจะใช้หุ่นยนต์ก่อสร้างฐานบนดวงจันทร์
TNN ช่อง16
6 ธันวาคม 2566 ( 16:13 )
60
ล้ำไปอีกขั้น ! สหรัฐอเมริกาจะใช้หุ่นยนต์ก่อสร้างฐานบนดวงจันทร์

จิไต (GITAI) บริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์ที่ทำงานบนอวกาศ ได้รับเลือกจากดาร์ปา (DARPA: Defense Advanced Research Projects Agency) หน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายใต้กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยของ DARPA ที่ประกาศวาระ 10 ปี การพัฒนาโครงสร้างบนดวงจันทร์ หรือเรียกว่าแผน ลูนาร์ เท็น (LunA-10) ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงสำหรับกิจกรรมอวกาศบนดวงจันทร์


รายละเอียดหุ่นยนต์ก่อสร้างบนดวงจันทร์

หุ่นยนต์ที่ GITAI พัฒนาขึ้นมีชื่อรุ่นว่า อินช์วอร์ม (Inchworm) เป็นหุ่นยนต์แขนกลขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถทำงานบนสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Microgravity) ที่รองรับการปรับแต่งส่วนประกอบตามลักษณะงานที่ซับซ้อน จากหลายขั้นตอนการทำงาน หุ่นยนต์ได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการกับงานต่าง ๆ ตั้งแต่งานก่อสร้าง ไปจนถึงงานบำรุงรักษา หรือว่าจะประยุกต์ใช้งานอื่น ๆ ได้ในตัวโดยไม่ต้องสร้างมาหลาย ๆ ตัวเพื่อทำงานแยกกัน และสามารถใช้งานชิ้นส่วนหรืออะไหล่ร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ บนดวงจันทร์ในอนาคตได้


ตัวหุ่นยนต์ Inchworm มีองศาอิสระ (Degree of Freedom) หรือค่าที่บ่งบอกความสามารถในการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ อยู่ที่ 7 ซึ่งมีค่าเท่ากับค่าองศาอิสระของแขนมนุษย์ ทำให้ตัวแขนกลมีความละเอียดอ่อนในการเคลื่อนไหว รองรับการใช้งานที่ซับซ้อนแบบที่มนุษย์ทำได้ โดยหุ่นยนต์มีน้ำหนักอยู่ที่ 50 กิโลกรัม ใช้มอเตอร์แปรงถ่าน และแรงบิดสูงสุด 368 นิวตันเมตร โดยใช้ไฟฟ้าในการทำงานสูงสุดที่ 200 วัตต์ (W) รองรับการเชื่อมต่อผ่านสายยูเอสบี (USB) และสายอินเทอร์เน็ตแบบแคท (CAT) หรือที่เรียกกันว่าสายแลน (LAN)


แผนการพัฒนาหุ่นยนต์ก่อสร้างบนดวงจันทร์

หุ่นยนต์ Inchworm ได้รับเงินสนับสนุนมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านบาท จาก DARPA ในการต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานบนดวงจันทร์ ตามแผนยุทธศาสตร์สถาปัตยกรรมดวงจันทร์ 10 ปี (10-Year Lunar Architecture: LunA-10) เพื่อใช้ช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนดวงจันทร์สำหรับภารกิจสำรวจและอยู่อาศัยบนดวงจันทร์ ซึ่งจะประหยัดต้นทุนและปลอดภัยกว่าการใช้นักบินอวกาศในอนาคต


ก่อนหน้านี้ หุ่นยนต์ตัวแรกในตระกูล Inchworm ที่มีชื่อว่า เอสวัน (S1) ได้ผ่านการทดสอบการช่วยประกอบชิ้นส่วนบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มาแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมา และ GITAI จะส่งหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ในรุ่น Inchworm ซึ่งใช้ชื่อว่าเอสทู (S2) ขึ้นไปทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) อีกครั้งในปีหน้า เพื่อทดสอบการบำรุงรักษาส่วนนอกของสถานี รวมถึงจะแจ้งความคืบหน้าในการพัฒนา Inchworm สำหรับการใช้งานบนดวงจันทร์ด้วยเช่นกัน




ที่มาข้อมูล Space.com

ที่มารูปภาพ GITAI


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง