'อานันท์-บิ๊กจิ๋ว-มาร์ค'ตอบรับร่วมกก.ปรองดองแก้วิกฤต 'ไพบูลย์'ฮึ่มฟ้องถ้ารับ 3 ข้อม็อบ
อดีตนายก”อานันท์-บิ๊กจิ๋ว-มาร์ค”ตอบรับร่วมกก.ปรองดองแก้วิกฤตประเทศ “ไพบูลย์”ฮึ่มฟ้องถ้ารับ 3 ข้อม็อบ “ชวน”ย้ำพิจารณาแก้รธน. 17 พ.ย.ขณะที่รัฐบาลเตรียมส่งกฎหมายประชามติเข้าสภา
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตประเทศจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ถูกจับตามองว่าจะเป็นการยื้อเวลาให้กับรัฐบาลหรือต้องการหาทางออกให้กับประเทศจริง ล่าสุดที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน หลังประชุมหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 รวมทั้ง นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ถึงรูปแบบโครงสร้างกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่สถาบันพระปกเกล้านำเสนอ 2 แนวทาง ว่า ได้รับคำชี้แจงจากนายสุทินว่าฝ่ายค้านไม่ถึงขนาดที่จะไม่เข้าร่วมในโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ขอรอดูแนวทาง รูปแบบคณะกรรมการก่อน ถือว่า ไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม ทั้งนี้ที่ประชุมยังไม่ได้หารือว่าจะใช้รูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ในรูปแบบใด หลังจากนี้จะนำความเห็นที่ได้หารือกันเพื่อส่งให้เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า รับทราบอีกครั้ง
ต่อสายทาบ4อดีตนายกฯร่วม
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอให้นายชวนเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวน กล่าวว่า ไม่เหมาะ ตนควรรับภาระการประสานเพื่อให้ทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน แต่กรณีใดที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ก็ยินดีทำ เมื่อถามว่ามีข่าวว่าเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมวงสมานฉันท์ นายชวน กล่าวยอมรับว่า ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังอดีตนายกรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วยนายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งนายอานันท์ พล.อ.ชวลิต และนายอภิสิทธิ์ ยินดีและพร้อมจะสนับสนุนให้ความร่วมมือแต่จะขอไปพบเป็นการส่วนตัวอีกครั้ง ส่วนนายสมชาย ยังติดต่อไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพ ขอให้รอสักระยะ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องยาวในอนาคต แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอีกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมเป็นอีกประเด็น ต้องดูพิเศษต่างหาก
ถก6ร่างแก้รธน.-ไอลอว์17พ.ย.
นายชวน กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ว่า หลังจากหารือทุกฝ่ายแล้วว่า จะประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ข้อยุติว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ มีผู้แจ้งว่า ไม่ได้มีการลงชื่อแก้ไข 400 กว่าคน แต่เนื่องจากมีผู้ลงชื่อในร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นแสนคน จึงไม่มีปัญหาอะไร จึงจะนำเรี่องเข้าบรรจุในระเบียบวาระได้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป แต่ตามข้อบังคับการประชุมต้องแจ้งวาระให้สมาชิกทราบล่วงหน้า 3 วัน ดังนั้น จึงเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 14-16 พฤศจิกายน ทำให้จะเริ่มประชุมได้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน จึงนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ เข้าบรรจุวาระเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนอีก 6 ฉบับ ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว และส่งมาให้แล้ว จะบรรจุเข้าสู่ในระเบียบวาระเรื่องที่กมธ.เสร็จแล้ว และจะพิจารณาในวันที่ 17 พฤศจิกายนเช่นกัน โดยเมื่อพิจารณาร่างแก้ไข 6 ฉบับเสร็จแล้ว จึงจะนำร่างไอลอว์เข้าพิจารณาต่อ มีการหารือว่าการพิจารณาวันที่ 17 พฤศจิกายนวันเดียวจะพอหรือไม่ เพราะการลงมติต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ถ้าไม่ทันจะพิจารณาต่อในวันที่ 18 พฤศจิกายน
วิปค้านรอดูท่าทีกลุ่มชุมนุม
ด้านนายสุทิน กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการหารือในสเตปแรกที่เชิญทุกฝ่ายมาหารือกัน ถ้าทุกฝ่ายยอมรับการมีคณะกรรมการสมานฉันท์จะไปสู่สเตปสองคือ โครงสร้างคณะกรรมการ ดังนั้นถ้าในสเตปแรกทุกฝ่ายยอมรับกัน พร้อมให้มีคณะกรรมการชุดนี้ ฝ่ายค้านก็พร้อมเข้าด้วย แต่ถ้าทุกฝ่ายไม่ยอมรับ ฝ่ายค้านก็คิดว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะร่วม โดยเฉพาะความเห็นจากฝ่ายผู้ชุมนุมถ้าไม่ยอมรับคณะกรรมการสมานฉันท์ ฝ่ายค้านคงไม่เข้าร่วมด้วย เพราะการแก้ปัญหาครั้งนี้ต้องเอาผู้ชุมนุมและประชาชนเป็นตัวตั้ง ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการหารือสเตปแรกน่าจะเกิดขึ้นไม่เกินสัปดาห์หน้า คงเป็นการหารือไม่กี่คน มีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ผู้ชุมนุม นักวิชาการ และสถาบันพระปกเกล้า ส่วนรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ต้องนำตุ๊กตาของสถาบันพระปกเกล้ามาพิจารณาในรูปแบบที่1และ2 หรืออาจสร้างรูปแบบที่3 ขึ้นมาเอง ต้องรอฟังก่อน
เมื่อถามว่าข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านต้องการให้นายกฯลาออกด้วย นายสุทิน กล่าวว่า ต้องดูว่ากรรมการชุดนี้ ผู้ชุมนุมหรือประชาชนคิดว่ากรรมการชุดนี้จะเป็นทางออก จะรอว่านายกฯจะลาออกหรือไม่ ถ้ากรรมการชุดนี้ครอบคลุมเงื่อนไข ฝ่ายค้านต้องพิจารณาไปตามข้อตกลงของโต๊ะกลมที่แต่ละฝ่ายพิจารณาร่วมกัน
“บิ๊กจิ๋ว”ตอบรับนั่งกก.ปรองดอง
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะประสานพร้อมเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ได้รับการติดต่อมาแล้วแต่บอกไม่ได้ว่าใครติดต่อมา รับปากไปว่าจะไปเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ส่วนจะตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบเพราะยังไม่ได้มีการประชุมพูดคุยอะไรกัน ในเบื้องต้นเมื่อมีการนัดประชุมกันครั้งแรก จะต้องหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นมาพูดคุยหารือกันถึงทางออกประเทศ และแนวทางการแก้ไข ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะรู้ปัญหาอยู่แล้ว เพียงแต่จะแก้ไขกันอย่างไร ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะพูดคุยกันเรื่องอะไร จึงตอบไม่ได้ว่าจะยึดแนวทางใดในการแก้ปัญหาฉะนั้นต้องให้คณะกรรมการมาพูดคุยกันก่อนถึงจะรู้แนวทาง
“วันเดียวก็เสร็จ ถ้าไม่เสร็จก็ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ปัญหาต่างๆทุกคนต่างทราบดีว่ามันคือ อะไรเพียงแต่เราหันหน้ามาร่วมกันหาทางออกให้ประเทศชาติ เพื่อจะได้เดินหน้ากันไป?มันไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่พวกเราจะร่วมใจกันแก้ไข” พล.อ.ชวลิต กล่าว
จ่อส่งกม.ประชามติเข้าสภาฯ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการเสนอให้มีอดีตนายกรัฐมนตรีร่วมอยู่ในคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า เรื่องนี้ให้ถามนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะลงนามในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างดังกล่าวเสร็จแล้วเพื่อส่งไปยังรัฐสภา นอกจากนี้นายกฯ ยังแจ้งให้ทราบว่า ได้มีการนำข้อเสนอเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของนายวิชา มหาคุณ ไปปรับปรุงในร่างพ.ร.บ.ตำรวจ เป็นร่างที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างตำรวจด้วย
“สมชาย”ยังไม่ได้รับเทียบเชิญ
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ระบุว่าจะเชิญอดีตนายกฯ มาร่วมในโครงสร้างกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากใคร ส่วนจะเข้าร่วมหรือไม่นั้นต้องขอดูก่อนว่าสามารถทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ต้องยอมรับว่าอยู่วงนอก ถือว่าไกลปืนเที่ยง เกรงว่าจะทำประโยชน์อะไรไม่ได้มาก กลัวทำให้คนอื่นเสียเวลาไปเปล่าๆ แต่หากสามารถทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้ ก็ต้องช่วยกัน เพราะขณะนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหาขัดแย้งแตกแยก ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามช่วยกันหาทางออกให้กับบ้านเมือง ขอให้ประสบความสำเร็จ
“จุรินทร์”หนุนกก.สมานฉันท์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขณะนี้มีการทาบทามอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอแนวทางมาแล้ว รายละเอียดลึกๆ จะเป็นอย่างไรต้องรอดูว่าข้อเสนอทั้ง 2 รูปแบบรายละเอียดมีอย่างไรบ้าง และสุดท้ายประธานรัฐสภาหรือคณะบุคคลที่จะเชิญมาร่วมพิจารณาจะกำหนดรูปแบบอย่างไร ส่วนหลักคิดที่เคยเสนอตั้งคณะกรรมการที่มาจาก 7 ฝ่าย ไม่ได้แปลว่าฝ่ายใดจะมีมากหรือน้อยกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาแสวงหาความเห็นให้เป็นฉันทามติที่ตรงกัน ทั้งนี้เมื่อประธานรัฐสภา ได้หารือกับทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ตนและพรรคปชป.พร้อมให้การสนับสนุน เพราะอยากเห็นประเทศมีทางออกในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนมีความเป็นห่วง
“อนุทิน”ชี้ผู้ใหญ่หวังดีบ้านเมือง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุจะเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีบารมีมาช่วยกัน มวลชนมาช่วยกัน เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมืองให้คนมีความรักมีความสามัคคีก็เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะควรต้องรักกันคนประเทศเดียวกัน ส่วนจะได้รับความร่วมมือจากอดีตนายกฯ หรือไม่นั้น ไม่ทราบ ไม่กล้าไปพูดถึงความคิดของแต่ละท่าน แต่คนที่เป็นอดีตนายกฯ ต้องมีความหวังดีกับบ้านเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายอนุทิน ฮัมเพลงรบกวนมารักกัน “หากไม่ดูเป็นการรบกวนก็จะชวนเธอมารักกัน”
ไพบูลย์ฮึ่มฟ้องถ้ารับ3ข้อม็อบ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จะเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์ได้หรือไม่ว่า เท่าที่ตามข่าวคณะกรรมการฉมานฉันท์ ถ้าฝ่ายต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความร่วมมือกัน มีความเห็นด้วยกันที่จะทำ และตนมองความขัดแย้งยกระดับขึ้นจนพูดกันไม่รู้เรื่องแล้วจนถึงเสนอให้ทำประชามติ เพราะฉะนั้นไม่เชื่อว่าคณะกรรมการฉมานฉันท์จะมาทำอะไรได้ อย่างเช่นเสนอตัวบุคคลมาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่าอดีตนายกรัฐมนตรีแต่ละคนก็น่าตะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว จะใช้กรรมการชุดนี้มาเป็นเครื่องนี้หรือเปล่า มาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือเปล่า หรือจะมาเสนอปฏิรูปสถาบัน ถ้าจะมาเสนอปฏิรูปสถาบันหากเอาเข้ามาตนจะฟ้อง สำหรับการตั้งคณะกรรมการฉมานฉันท์สามารถตั้งได้ แต่อย่าเอาสามข้อเรียกร้องของนักศึกษาเข้ามา เพราะฉะนั้นหากมีการนำเรื่องนี้เข้ามาสมานฉันท์ ตนจะไม่สมานฉันท์ ในส่วนของพรรคที่จะมีการเข้าร่วมสมานฉันท์เป็นนโยบายอยู่แล้ว ท่านประธานวิปก็อยากเห็น