รีเซต

ศรีลังกาตรึงกำลังเข้มทั่วกรุง คุมม็อบเดือดบุกบ้านปธน. ขณะปท.เผชิญวิกฤตศก.หนัก

ศรีลังกาตรึงกำลังเข้มทั่วกรุง คุมม็อบเดือดบุกบ้านปธน. ขณะปท.เผชิญวิกฤตศก.หนัก
มติชน
1 เมษายน 2565 ( 14:47 )
66

เมื่อวันที่ 1 เมษายน กองกำลังความมั่นคงของศรีลังกา กระจายกำลังรักษาการณ์ทั่วกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของประเทศ หลังจากกลุ่มผู้ประท้วงพยายามจะบุกเข้าไปในบ้านพักของประธานาธิบดีโคฐานภยะ ราชปักษะ ของศรีลังกา เมื่อกลางดึกคืนก่อน จากความไม่พอใจสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญครั้งเลวร้ายที่สุดนับจากได้รับเอกราช

 

ศรีลังกา ประเทศในเอเชียใต้ ที่มีประชากร 22 ล้านคน กำลังเผชิญการขาดแคลนสินค้าจำเป็นและราคาสินค้าที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่ประเทศมีหนี้ก้อนโต

 

ตำรวจในกรุงโคลอมโบ เปิดเผยว่า ได้จับกุมประชาชนไป 45 คน หลังเกิดเหตุไม่สงบในคืนก่อน ที่ทำให้ชายรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะที่การบังคับใช้เคอร์ฟิวในคืนก่อน ถูกยกเลิกไปในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ แต่ยังมีการเสริมกำลังตำรวจและทหารรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วกรุงโคลอมโบ ที่ยังมีรถบัสซึ่งถูกกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผาจอดปิดกั้นถนนมุ่งหน้าสู่บ้านพักของประธานาธิบดีราชปักษะอยู่

 

โดยเมื่อคืนวันที่ 31 มีนาคม ประชาชนหลายร้อยคนที่ถูกนักเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียปลุกออกมาให้ชุมนุมเรียกร้องให้นายราชปักษะลาออกไป โดยมีการจุดไฟเผารถทหาร 2 คัน และรถตำรวจ 1 คัน และใช้ก้อนอิฐทำร้ายเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงใส่ฝูงชนและฉีดแก๊สน้ำตาและน้ำเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงหรือกระสุนยางในการสลายผู้ประท้วง ขณะที่แหล่งข่าวเผยว่า ประธานาธิบดีศรีลังกาไม่ได้อยู่ในบ้านพักขณะเกิดเหตุชุลมุน แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพได้รวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

มีรายงานว่า การถ่ายทอดสดเหตุชุมนุมประท้วงของสถานีโทรทัศน์เอกชนช่องหนึ่งได้หยุดลงกะทันหัน หลังจากกลุ่มผู้สื่อข่าวกล่าวว่ามีแรงกดดันจากรัฐบาล แต่คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่แชร์กันในโลกออนไลน์เผยให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้สมาชิกในครอบครัวราชปักษะทุกคนที่อยู่ในอำนาจลาออกไป

 

โดยนอกจากนายโคฐานภยะ ราชปักษะ จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว นายมหินทา ผู้เป็นพี่ชายยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายบาซิล น้องชายคนสุดท้อง เป็นรัฐมนตรีคลัง นายชามาล พี่ชายคนโต เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร และนายนามาล หลานชาย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา

 

ทั้งนี้สถานการณ์วิกฤตในศรีลังกาได้รับแรงหนุนจากเหตุระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวและการส่งรายได้กลับประเทศหดตัวลดลง แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงยังเป็นผลจากการจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลและการกู้เงินที่สะสมมานานหลายปี

 

ศรีลังกาได้ออกคำสั่งห้ามนำเข้าเป็นวงกว้างในเดือนมีนาคม 2020 เพื่อรักษาเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต่อการชำระหนี้ต่างประเทศที่มีมูลค่า 51,000 ล้านดอลลาร์ของประเทศเอาไว้ แต่ก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศขึ้นไม่กี่วันก่อน หลังเกิดการขาดแคลนน้ำมันดีเซล และบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผูกขาดโดยภาครัฐ ได้ประกาศตัดไฟฟ้าทั่วประเทศเพิ่มเป็นวันละ 13 ชั่วโมงเมื่อวันก่อน ซึ่งยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากไม่มีน้ำมันดีเซลสำหรับเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง