แนะนำพืชผักสมุนไพรกินปรับสมดุลรับฤดูหนาว
เมื่อเข้า “ปลายฝนต้นหนาว” คนโบราณท่านว่าไว้ ต้องกินอาหารเพื่อปรับสมดุลธาตุในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล เข้าสู่ฤดูหนาว
เรื่องนี้ นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ท่านบอกว่า กินแกงส้มดอกแค เนื่องจาก ดอกแค จะช่วยปรับสมดุลธาตุในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล เนื่องจากแกงส้ม เครื่องแกงจะมีรสเผ็ดร้อน บำรุงและแก้เกี่ยวกับธาตุลม (ฤดูฝน) การปรุงรสโดยใส่มะขามเปียกให้มีรสเปรี้ยวจะบำรุงและแก้ธาตุน้ำ(ฤดูหนาว) รวมทั้งการใส่ดอกแค โดยดอกแคไม่ต้องเอาก้านเกสรออก (รสขม) จะช่วยแก้ไข้หัวลมได้
การกินแกงส้มดอกแคจะช่วยปรับสมดุลธาตุในร่างกายไม่ให้ธาตุลมลดลงอย่างเฉียบพลัน และเตรียมรองรับธาตุน้ำ ที่มากับฤดูหนาว ร่างกายจะเกิดสมดุลของธาตุในช่วงเปลี่ยนผ่านของสองฤดูนี้
สำหรับพืชผักสมุนไพรที่ควรรับประทานในช่วงฤดูนี้ ได้แก่
รสเปรี้ยว
- มะขามป้อม สรรพคุณ แก้หวัด แก้ไอ ละลายเสมหะ เป็นยาระบาย
- ชะมวง สรรพคุณ แก้ไข้ ระบายท้อง ขับเสมหะ
- มะเขือพวง สรรพคุณ ขับเสมหะ แก้ไอ ช่วยย่อยอาหาร ลดความดันโลหิต
รสขม
- ดอกแค สรรพคุณ แก้ไข้เปลี่ยนฤดู
- ขี้เหล็ก สรรพคุณ เป็นยาระบาย ช่วยให้นอนหลับสบาย
- สะเดาสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
รสเผ็ดร้อน
- พริกไทย สรรพคุณ ขับเสมหะ แก้ท้องอืดเฟ้อ กระชาย สรรพคุณ ทำให้กระชุ่มกระชวย เป็นยาบำรุงร่างกาย
- กะเพรา สรรพคุณ แก้ท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง ขับลม แก้คลื่นไส้
- กระเทียม สรรพคุณ แก้อาการจุกเสียดแน่นอืดเฟ้อ
- ผักชี สรรพคุณ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ แก้ไข้ ไอ หวัด
- หอมแดง สรรพคุณ แก้ไข้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ขับลม บำรุงธาตุพิการ
- ขิง สรรพคุณ ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน ขับเสมหะ
ในส่วนตำรับยาสมุนไพร ที่ควรมีติดบ้าน ติดตัวเอาไว้ เพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว คือ
ฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ รักษาอาการเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ
ยาแก้ไอมะขามป้อม สรรพคุณ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ
ยาปราบชมพูทวีป สรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการหวัด ภูมิแพ้อากาศ ต้านการอักเสบ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ดี ยาดังกล่าวสามารถสั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ในคลินิกการแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
นายแพทย์ธิติ ยังย้ำว่า สำหรับการดูแลผิวพรรณ ในช่วงฤดูหนาวก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการผิวหนังแห้งและคัน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนะนำให้ใช้พืชผักสมุนไพรที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ ได้แก่ ว่านหางจระเข้ แตงกวา มะเขือเทศ กล้วย น้ำมันมะพร้าว และ น้ำมันงา เป็นต้น
ที่มา: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข