วิเคราะห์ DART Mission ทำไมเราต้องชนดาวเคราะห์น้อย ?
รู้หรือไม่? ในแต่ละปีมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกกว่า 17,000 ดวง ภัยพิบัติจากอุกกาบาตจึงนับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติชนิดหนึ่ง แต่อุกกาบาตส่วนมากมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและมักตกลงในมหาสมุทร ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปีมีอุกกาบาตถูกดึงดูดด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกเข้ามาในชั้นบรรยากาศมากกว่า 17,000 ดวง เพื่อมุ่งหน้าลงสู่พื้นผิวโลก แต่เนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลกสามารถเสียดสีกับวัตถุที่ตกลงสู่พื้นผิวโลกด้วยความเร็วสูง จนก่อให้เกิดการลุกไหม้และแผดเผาตัววัตถุนั้น ๆ และทำให้มีขนาดเล็กลงได้ โดยวัตถุที่มีขนาดไม่ใหญ่มากพอจะถูกแผดเผาจนหายไปก่อนที่จะตกลงสู่พื้นผิวโลก
สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
เราไม่อาจนิ่งนอนใจกับภัยพิบัติจากอุกกาบาตได้ เพราะหนึ่งในทฤษฎีการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็คือ การที่โลกเคยถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชน แล้วก่อให้การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในยุคนั้น นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางธรณีวิทยาที่ชี้ให้เห็นว่าโลกเคยถูกอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนมาก่อน เช่น หุบอุกกาบาตชิกชูลุบ (Chicxulub crater) หุบอุกกาบาตที่ถูกฝังอยู่ใต้คาบสมุทรยูกาตันในประเทศเม็กซิโก ที่นักธรณีวิทยาชี้ว่าเกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 กิโลเมตร และอายุของชั้นหินในบริเวณดังกล่าวได้ชี้ว่าหลุมอุกกาบาตนี้มีอายุประมาณ 66 ล้านปี ซึ่งตรงกับการสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน (Cretaceous-Paleogene extinction event) หนึ่งในการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งกวาดล้างสิ่งมีชีวิตไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก ณ ตอนนั้น
ภารกิจปกป้องโลกของนาซา
ภารกิจดาร์ท (DART Mission หรือ Double Asteroid Redirection Test Mission) ขององค์การนาซา (NASA) จึงถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อปกป้องโลกจากภัยพิบัติจากอุกกาบาต ซึ่งวิธีที่นักวิทยาศาสตร์เลือกใช้ก็คือการเบี่ยงเส้นทางวงโคจรของอุกกาบาตด้วยการส่งยานอวกาศไปชนกับมัน โดยวิธีการนี้จำเป็นจะต้องถูกทดลองจริง ทำให้ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ถูกเลือกเป็นเป้าหมายสำหรับการทดสอบวิธีการนี้ เนื่องจากมันอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 7 ล้านไมล์ หรือประมาณ 9.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่ไม่ใกล้เกินไปจนเป็นอันตรายกับโลก ในกรณีที่การพุ่งชนทำให้วัตถุเป้าหมายแตกออกอย่างไม่ตั้งใจ และเราไม่ต้องการสิ่งนั้น และเป็นระยะที่ไม่ไกลจนเกินไป ทำให้สามารถส่งยานอวกาศไปถึงได้ในเวลาไม่นานนัก
สำหรับภารกิจยานอวกาศดาร์ท (DART) พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสในช่วงเช้าของวันที่ 27 กันยายน 2022 ตามเวลาประเทศไทย สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยยานอวกาศได้พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยสำเร็จด้วยความเร็วประมาณ 22,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหลังจากนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องทำต่อไปก็คือสังเกตการณ์วงโคจรที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส และหากทุกอย่างเป็นไปตามคาดการณ์ เมื่อโลกถูกพุ่งชนโดยอุกกาบาตขนาดใหญ่ มนุษยชาติจะมีวิธีรับมือที่เชื่อถือได้
ข้อมูลและภาพจาก dart.jhuapl.edu และ www.nationalgeographic.com