แค่ "จีน" คุมส่งออก "แรร์เอิร์ธ" ก็เหมือนหักปีกหุ่นยนต์ "Optimus"

มาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายาก (Rare Earth) ของจีน กลายเป็นข้อกังวลอันใหญ่หลวงที่อาจจะกระทบสายพานผลิตหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ “ออพทิมัส (Optimus)” ของบริษัทเทสลา (Tesla) ตามการเปิดเผยของซีอีโออย่าง อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าพ่อเทคโนโลยีคนดัง ซึ่งส่งผลต่อเป้าหมายในปี 2525 ที่ต้องการผลิตหุ่นยนต์สู่ท้องตลาดจำนวนมาก
แร่ธาตุหายาก (Rare Earth Elements) มีความสำคัญต่อการผลิตแม่เหล็กที่ทรงพลัง เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดรน และหุ่นยนต์มนุษย์ ซึ่งประเทศจีนครองตลาดนี้ โดยควบคุมกำลังการสกัดแร่ธาตุหายากทั่วโลก 90% กับเหมืองแร่มากถึง 70% และการควบคุมแร่หายาก 7 ชนิดของรัฐบาลจีน ทำให้ในท้องตลาดขาดแคลนทันที โดยบริษัทในประเทศฝั่งตะวันตกมีสต๊อกเพียง 6 เดือนหรือน้อยกว่านั้น ตามรายงานของสื่ออย่าง Financial Times
สำหรับเทสลา (Tesla) ผลกระทบนั้นสูงมาก เพราะการพัฒนาหุ่นยนต์ Optimus ต้องพึ่งพาแม่เหล็กนีโอดิเมียม (NdFeB) สำหรับมอเตอร์เซอร์โว ซึ่งยากต่อการจัดหาจากนอกประเทศจีน โดยมัสก์เปิดเผยระหว่างการประชุมรายได้ในปี 2025 ว่าใบอนุญาตขอส่งออกแรร์เอิร์ธของเทสลา (Tesla) จากกระทรวงพาณิชย์ของจีนอาจจะล่าช้า 6-7 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น และหากไม่ได้รับการอนุมัติเหล่านี้ การผลิตหุ่นยนต์ Optimus หลายพันหน่วยในปีนี้ก็จะตกที่นั่งลำบาก
สงครามห่วงโซ่อุปทานทางภูมิรัฐศาสตร์
การเคลื่อนไหวของจีนเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่ตอบโต้ภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์ แถมยังทำหน้าเป็นแรงผลักดันในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีได้อีกด้วย เพราะการควบคุมแรร์เอิร์ธทำให้ปักกิ่งสามารถก่อกวนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน F-35 ไปจนถึงขีปนาวุธ Tomahawk ซึ่งต้องพึ่งพาวัสดุเหล่านี้ โดยนักวิเคราะห์จากศูนย์การศึกษากลยุทธ์และระหว่างประเทศ (CSIS) ระบุว่า มาตรการของจีนในครั้งนี้ อาจส่งผลให้ความพร้อมรบของสหรัฐฯ อ่อนแอลงด้วย
ราคาปิดของหุ้น TSLA
การต่อสู้ดิ้นรนของ เทสลา (Tesla) เป็นสัญลักษณ์ของจุดอ่อนในระบบ ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ลงทุนมากกว่า 439 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 15,000 ล้านบาท เพื่อสร้างศักยภาพในการประมวลผลแร่ธาตุหายากในประเทศ แต่ความคืบหน้ายังคงล่าช้า ตัวอย่างเช่น โรงงาน Mountain Pass ของ MP Materials จะผลิตแม่เหล็กนีโอดิเมียม (NdFeB) ได้เพียง 1,000 ตันภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคิดเป็น 0.7% ของผลผลิตของจีนในปี 2018 สวนทางกับทางจีน ที่เพิ่มความเข้มงวดขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ 16 แห่งในรายชื่อควบคุมการส่งออกในปี 2024
การแข่งขันด้านหุ่นยนต์ : จีนครองความได้เปรียบเพราะต้นทุนที่ถูกกว่า
เทสลา (Tesla) ไม่ได้ต่อสู้กับอุปสรรคด้านห่วงโซ่อุปทานเพียงอย่างเดียว แต่ยังแข่งขันกับคู่แข่งที่ราคาถูกกว่าอีกด้วย โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Engine AI และ Unitree ที่กำลังปิดช่องว่างด้านเทคโนโลยี เสนอหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ในราคา 12,175 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 400,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาคาดการณ์ของหุ่นยนต์ Optimus อย่างมาก ที่ถูกตั้งไว้ 20,000–30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 670,000 - 1 ล้านบาท นอกจากนี้ ปักกิ่งยังมีกองทุนรวมถึงการลงทุนสำหรับหุ่นยนต์ มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งครองห่วงโซ่อุปทานหุ่นยนต์ทั่วโลกกว่า 56% ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ของจีน ได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุนและขนาดของตลาด
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาทางการเงินของ เทสลา (Tesla) ทำให้ความท้าทายนี้รุนแรงขึ้น โดยรายได้ไตรมาสแรกของปี 2025 เผยให้เห็นว่ากำไรลดลง 71% เหลือ 409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 14,000 ล้านบาท โดยรายได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความขัดแย้งทางการเมือง หลังจากที่อีลอน มัสก์ ได้เข้าไปเป็นทีมของทรัมป์ นั่งเก้าอี้บริหารกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงไปอีก ส่งผลให้ราคาหุ้นของ เทสลา (Tesla) ร่วงลง 5.8% ก่อนที่จะมีรายงานรายได้ประจำปี
อนาคตที่ไม่แน่นอนของเทสลา
ความทะเยอทะยานของ Optimus ของเทสลา (Tesla) อาจจะต้องถูกเบรกลง เพราะผูกติดกับนโยบายแร่ธาตุหายากของจีนอย่างแยกไม่ออก และถึงแม้ว่าอีลอน มัสก์จะเคยบอกว่า หุ่นยนต์ Optimus จะสร้างเม็ดเงินกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความจริงแล้วกลับติดอยู่ในคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
หลังจากนี้คงต้องจับตา ว่าสถานการณ์ของเทสลา (Tesla) ภายใต้การนำของอีลอน มัสก์ จะเป็นอย่างไร เพราะราคาแรร์เอิร์ธก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของเทสลา (Tesla) ที่เปราะบางลงอย่างเห็นได้ชัด แถมคู่แข่งก็ยังขายหุ่นยนต์ถูกกว่า โกยส่วนแบ่งการตลาดไปได้ไม่มากก็น้อย อีกทั้งซีอีโอยังต้องเผชิญกับประเด็นการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
แล้วชะตากรรมของหุ่นยนต์ Optimus จะออกมาหน้าไหน เฉิดฉายเป็นกองทัพ 5,000 ตัวเหมือนที่ตั้งเป้าไว้ หรือนอนรอใส่ส่วนประกอบบนสายพานผลิตกันแน่ ?
บทความโดย : เอกชาย ธนันไชย