ส่องภารกิจสหรัฐฯ ส่งยานอวกาศเชิงพาณิชย์ลงจอดบนดวงจันทร์
สหรัฐอเมริกายังคงตั้งเป้าที่จะเดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนาซา ที่จะส่งยานสำรวจไปลงจอดบนดวงจันทร์ให้สำเร็จในรอบกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ภารกิจอพอลโล ในปี 1972
สำหรับยานอวกาศจากเอกชนที่จะใช้ในภารกิจนี้ เป็นยานสำรวจดวงจันทร์แบบไร้คนขับชื่อว่า โนวา-ซี (Nova-C) ซึ่งเป็นยานอวกาศสูง 4.27 เมตร หนัก 2.2 ตัน ที่สร้างโดยบริษัท อินทูอิทิฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศจากเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยเดิมทียานลำนี้จะถูกส่งไปติดตั้งบน จรวดฟอลคอนไนน์ (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอกซ์ (Space) และมีกำหนดการปล่อยตัวจากศูนย์อวกาศเคเนดีของนาซาในวันที่ 16 พฤศจิกายน ปี 2023 ก่อนที่กำหนดการจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
ส่วนกำหนดการปล่อยตัวในครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา ทางบริษัทก็ได้ยกเลิกภารกิจอย่างกะทันหันในเวลาเพียง 75 นาทีเท่านั้นก่อนกำหนดการปล่อยตัว เนื่องจากประสบปัญหาเกี่ยวกับก๊าซมีเทน ก่อนจะประกาศเลื่อนการปล่อยตัวออกไปเป็นวันรุ่งขึ้นในเดือนเดียวกัน
สำหรับยานสำรวจดวงจันทร์ โนวา-ซี (Nova-C) หรือที่มีฉายาว่า โอดิสซีอุส (Odysseus) ซึ่งตั้งตามชื่อของวีรบุรุษในเทพนิยายกรีกโบราณ ซึ่งในการพัฒนายานลำนี้ บริษัทได้รับทุนกว่า 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,700 ล้านบาท จากองค์การนาซาเมื่อปี 2019 ผ่านโครงการ Commercial Lunar Payload Services ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสนับสนุนการสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์ของบริษัทเอกชน โดยยานจะบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนาซาเพื่อลงไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์
ข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า หากยานสำรวจ โนวา-ซี (Nova-C) ปล่อยตัวสำเร็จในสัปดาห์นี้ คาดว่ามันจะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางบนดวงจันทร์ได้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และลงจอดบริเวณแอ่ง มาลาพาร์ต เอ (Malapert A) ซึ่งเป็นปล่องภูเขาไฟใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์
และเมื่อยานลงจอด มันจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ประมาณ 12-13 วัน ตราบเท่าที่ยังมีแสงจากดวงอาทิตย์ส่องอยู่ และเมื่อหมดแสงอาทิตย์ไป ก็จะทำให้อุณหภูมิบริเวณที่ยานลงจอดนั้นหนาวจัด จนทำให้ระบบของยานหยุดนิ่ง ซึ่งก็จะถือว่าเป็นอันสิ้นสุดภารกิจในครั้งนี้
ข้อมูลจาก reuters, intuitivemachines