รีเซต

ศึกชิง 'หอยแครง' อ่าวบ้านดอน ปมขัดแย้ง 3 ด้าน

ศึกชิง 'หอยแครง' อ่าวบ้านดอน ปมขัดแย้ง 3 ด้าน
มติชน
2 มิถุนายน 2563 ( 08:05 )
375

 

อ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี ถ้ารู้จักกันตามชื่อก็คืออ่าวทะเลเหมือนๆ อ่าวทั่วไป

แต่อ่าวบ้านดอนปรากฏเป็นข่าวปะทุขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อชาวประมงพื้นบ้านชุมชนบ้านสำโรง หมู่ 4 ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ กว่า 300 คน รุมล้อมรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีชายฉกรรจ์เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นายอยู่ในรถ

 

จากเหตุที่ นายอนุชา บินมูซา อายุ 46 ปี ชาวบ้าน ต.ท่าทองใหม่ ที่ไปรับซื้อลูกหอยแครงจากชาวประมงพื้นบ้านบริเวณปากแม่น้ำตาปี อ้างว่าถูกตำรวจนอกเครื่องแบบใช้อาวุธปืนจี้บังคับยึดลูกหอยแครง 23 กระสอบ น้ำหนัก 700 กิโลกรัม มูลค่า 5 แสนบาท ที่ถูกกล่าวหากระทำผิดกฎหมายประมง โดยมีการเรียกเงิน 5 ล้านบาท เพื่อแลกไม่ถูกดำเนินคดี

 

จากนั้นปัญหาต่างๆ กลายเป็นเรื่องแดงขึ้น มีการโจษขานว่า กลุ่มตำรวจนอกเครื่องแบบดังกล่าวเป็นเด็กของผู้มีอิทธิพลครอบครองพื้นที่อ่าวบ้านดอน มีคอกเลี้ยงหอยเถื่อน เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการรื้อถอนเสาหลักไม้ไผ่เขตเลี้ยงหอยแครง ให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ชาวบ้านได้ทำมาหากิน

 

ทั้งนี้ อ่าวบ้านดอน คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ลำดับที่ 62 ของประเทศจากทั้งหมด 69 แห่ง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ตามการทบทวนทะเบียนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

 

โดยมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ในข้อที่ 6 ประกาศให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติฯ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก โดยมีกรมประมง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยสนับสนุน

 

ด้วยสภาพท้องทะเลฝั่งอ่าวไทยในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง อ.พุนพิน อ.เมือง อ.กาญจนดิษฐ์ และ อ.ดอนสัก รวม 6 อำเภอ เป็นเวิ้งอ่าวก้นกระทะขนาดใหญ่ อ่าวบ้านดอนŽ มีความยาวแนวชายฝั่ง 120 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 434,575 ไร่ รองรับน้ำจากลำคลองน้อยใหญ่หลายร้อยสายลงสู่ปากอ่าว โดยเฉพาะบริเวณตะกอนปากแม่น้ำตาปี ระหว่างเขต อ.เมือง และ อ.พุนพิน มีสภาพอุดมสมบูรณ์ที่สุดเป็นที่กำเนิดลูกหอยแครงธรรมชาติ และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนนานาชนิด อ่าวบ้านดอนจึงเป็นแหล่งประกอบอาชีพเลี้ยงปากท้องชาวบ้านประมงชายฝั่งมาช้านาน

 

บริเวณอ่าวบ้านดอน ท้องที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และ อ.พุนพิน จึงเป็นพื้นที่ไม่สามารถอนุญาตให้บุคคลใดยึดครองเพาะเลี้ยงได้ ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องปัญหามีนายทุนรุกพื้นที่เข้าไปปักแนวเขตเป็นพื้นที่ของตนเอง มีการปลูกขนำเฝ้าคอกหอย และมีการไล่ยิงชาวประมงพื้นบ้านที่เข้าไปจับลูกหอยในบริเวณดังกล่าว เป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกันอยู่บ่อยครั้ง

 

 

 

 

ย้อนเวลาไป 5 วัน ก่อนเหตุรุมล้อมตำรวจ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้ นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำทหาร มทบ.45 เจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4, ประมงจังหวัด, กอ.รมน.จังหวัด, ป้องกันจังหวัดและกำลัง อส. ตรวจในอ่าวบ้านดอน เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายในเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตรจากชายฝั่ง ท้องที่ปากคลองฉนาก หมู่ 8 ต.คลองฉนาก อ.เมืองสุราษฎร์ธานี

 

ปรากฏว่าไปพบเรือประมง 20 ลำ ติดอุปกรณ์คราดจับหอยแครงขนาดเล็กไปขายต่อให้กลุ่มนายทุนเลี้ยงหอย จับกุมเรือได้ 4 ลำ ผู้ต้องหา 8 คน ยึดลูกหอยตัวเล็กจำนวนมาก การใช้เครื่องมือคราดหอยเป็นสิ่งผิดกฎหมายประมงห้ามใช้ในเขตอนุรักษ์ เพราะคราดจับหอยได้ง่าย แต่เป็นการกวาดทั้งสัตว์น้ำอื่นๆ ติดตายไปด้วย เพราะลูกหอยแครงมีราคาดีกิโลกรัมละ 500-700 บาท แต่ละวันคราดเก็บได้คนละ 2-3 กิโลกรัม


มาตรการเร่งด่วนของ จ.สุราษฎร์ธานี คือต้องรื้อถอนหลักไม้ไผ่ที่ปักครอบครองรุกล้ำในเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตร ออกจากพื้นที่ให้หมด โดยมี นายบรรเจิด สาริพัฒน์ นายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี นำเรือประมงชาวบ้านที่มาลงดำเก็บหอยด้วยมือนับ 100 ลำ

 

ช่วยรื้อถอนหลักที่ปักครอบครองรุกล้ำในเขตอนุรักษ์ 1,000 เมตร ออกจากพื้นที่ให้หมดภายในวันที่ 25 พฤษภาคม ตามคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ล่าสุด พล.ท.สิทธิพร มุสิกะสิน แม่ทัพน้อยที่ 4 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามปัญหาที่ส่อเค้าความขัดแย้งรุนแรงอีกรอบ หลังเกิดเหตุเผาขนำเฝ้าคอกหอยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจับกุมอาวุธปืนพ่อค้ารับซื้อหอย พร้อมเตรียมนำปัญหาเข้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ โดยจังหวัดจัดประชุมด่วนเพื่อหาข้อยุติ

 

ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบในพื้นที่อ่าวบ้านดอน ไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นในระหว่างการแก้ปัญหา ตลอดจนตรวจการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งอาวุธปืน สิ่งผิดกฎหมาย ตลอดจนการทำการประมงที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

 

เป็นอีกปรากฏการณ์ความขัดแย้ง 3 ด้าน หนึ่ง คือชาวบ้าน หนึ่ง คือนายทุน (ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนช่วยเหลือ) และอีกหนึ่ง คือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพื้นที่ชุ่มน้ำ

 

ทุกอย่างต้องหาจุดสมดุล

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง