รีเซต

ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน ขับไล่ ศรชล.ปล่อยประมงผิดกม.บุกรุก

ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน ขับไล่ ศรชล.ปล่อยประมงผิดกม.บุกรุก
มติชน
31 สิงหาคม 2563 ( 14:26 )
172
ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน ขับไล่ ศรชล.ปล่อยประมงผิดกม.บุกรุก

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวบ้านดอน ประมาณ 500 คน นำรถยนต์ติดป้ายคัดค้านการรื้อถอนขนำคอกหอยของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และ อีกส่วนใช้เรือประมงพื้นบ้านประมาณ 100 ลำ เดินทางไปยังที่ตั้งกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะบริเวณอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี  (ศรชล.) ภาค 2 ที่อยู่ในวัดชลธาร หมู่ที่ 2 ต.บางไทร อ.เมืองสุราษฎร์ธานี พร้อมถือป้ายข้อความ เช่น ชาวสุราษฎร์ฯ ไม่เอาศรชล., ศรชล.มาเพื่อช่วยหรือฆ่าชาวประมงพื้นบ้าน, ศรชล.มาเพื่อทวงพื้นที่ให้ชาวบ้าน หรือประมงผิดกฎหมาย, ปัญหาชาวสุราษฎร์ฯแก้ด้วยพ่อเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงประเด็นทำไมปล่อยให้ศรชล.ทำลายวิถี เป็นต้น พร้อมใช้เครื่องขยายเสียงติดรถผลัดกันกล่าวโจมตีการทำงานของ ศรชล.และขอให้ ศรชล.กลับไปประจำการยังที่ตั้ง

 

 

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 กรณีการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการเลี้ยงหอยและชาวประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี 5 ข้อ

 

1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพ่อเมืองของคนสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามวิถีชีวิตชุม ด้วยความเป็นธรรมภายใต้กฎหมาย

 

2.ให้ “ศรชล” ออกจากพื้นที่ เพราะหน่วยงานที่ “ศรชล” รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งภาพรวมมองเห็นได้ชัดว่า เป็นการเลือกปฏิบัติที่เห็นได้ชัดเจนปล่อยให้เรือประมงผิดกฎหมายจำนวนมากเข้าทำประมงในเขตพื้นที่ โดยไม่มีการห้ามปราม ขับไล่ จับกุม

 

3.ให้ “ศรชล” รับผิตชอบความเสียหายเครื่องมีประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่ “ศรชล” ปล่อยปะละเลยให้เรือประมงผิดกฎหมายเข้ามาทำประมง

 

4.ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาเพื่อความสงบเรียบร้อยของพี่น้องชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และด้านความมั่นคงในภาพรวมของรัฐบาล โดยการชะลอหรือการปฏิบัติภารกิจในการรื้อถอนขนำ หรือเพิงพักเอาไว้ก่อน จนกว่ามีมาตรการที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนซึ่งทุกภาคส่วนยอมรับในการปฏิบัติได้

 

5.ไม่ดำเนินคดี และเอาผิดกับผู้เรียกร้องสิทธิในกรณีดังกล่าว เพราะเป็นการกระทำในเรื่องปัญหาปากท้องตามสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

 

ต่อมาวันเดียวกัน นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อม น.อ.สมชาย ศิพะโย ผู้บัญชาการหมู่เรือรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณบริเวณอ่าวบ้านดอน และ นายสุเชาว์ ทูโมสิก ป้องกันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าเจรจา และให้ส่งตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุมหารือร่วมกัน โดยตัวแทนชาวบ้านมี นายรักษ์เพิ่ม เวชวัฒน์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางชนะ กับพวกรวม 7 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้ยกกรณีขนำในทะเลสาบ จ.สงขลา ที่ยังให้ชาวประมงพื้นบ้านทำได้ โดยขอให้ ศรชล.ออกจากพื้นที่ และต้องการให้ชะลอการรื้อขนำ แต่ ศรชล.ยืนยันดำเนินการหน้าที่ตามกฎหมายออกไม่ได้ ส่วนทะเลสาบสงขลาอยู่ในขั้นตอนของกรมประมง

 

 

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หลังการประชุมดำเนินไปได้ 45 นาที จากนั้น นายสุทธิพงษ์ได้ออกจากที่ประชุมไปและกลับมาประชุมต่อ ส่วนการรื้อถอนขนำปฐมฤกษ์ 2 หลังแรกในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ศรชล.จะดำเนินการต่อไป ซึ่งที่ประชุมยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง