ตลาดเกิดใหม่เปิดใจรับ AI มากกว่าชาติร่ำรวย

ผลสำรวจที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และบริษัทที่ปรึกษา KPMG ระบุว่า ผู้คนในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ราว 3 ใน 5 ให้ความเชื่อถือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีเพียง 2 ใน 5 เท่านั้นที่ไว้วางใจ
“นิโคล กิลเลสพี” ประธานด้านความเชื่อมั่นของเมลเบิร์น บิสซิเนส สคูล ระบุว่า การที่ AI ได้รับการยอมรับและไว้วางใจมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นผลจากการได้รับประโยชน์และโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีดังกล่าว และการมีบทบาทมากขึ้นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ
ผลการศึกษาดังกล่าวสำรวจความเห็นผู้คนมากกว่า 48,000 คน จาก 47 ประเทศ ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 ถึงมกราคม ปี 2568 โดยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 2 ใน 3 ใช้ AI เป็นประจำ และราวร้อยละ 83 เชื่อว่า AI จะสร้างประโยชน์มากมาย
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 58 มองว่า เทคโนโลยี AI ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับที่พบในการศึกษาครั้งที่แล้ว ก่อนจะมีการเปิดตัว “แชตจีพีที” (ChatGPT) แชตบอตอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI เมื่อปี 2565
“กิลเลสพี” ระบุด้วยว่า ความไว้วางใจของผู้คนที่มีต่อเทคโนโลยี AI และการใช้งานอย่างปลอดภัยมีความสำคัญต่อการยอมรับและการใช้งานในระยะยาว
เนื่องจาก AI ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจและรัฐบาลต่างก็พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการใช้นวัตกรรมกับเรื่องจริยธรรม เช่น การเลิกจ้างงาน และข้อมูลส่วนบุคคล