รู้หรือไม่ ? 1 วันยาวนานกว่า 1 ปี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้บนดาวศุกร์
เราส่วนใหญ่รู้ว่า โลกของเราหมุนรอบตัวเองครบ 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ทำให้เกิด “วัน” ในขณะเดียวกันก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย ครบ 1 รอบ ใช้เวลา 365 - 366 วัน ทำให้เกิด “ปี”
ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา ดาวเคราะห์ทุกดวงต่างหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย และส่วนใหญ่ 1 วันบนดาวเคราะห์แต่ละดวงก็จะสั้นกว่า 1 ปี ยกเว้นดาวที่ได้รับฉายาว่าฝาแฝดของโลกอย่างดาวศุกร์ เพราะดาวดวงนี้หมุนรอบตัวเองใช้เวลา 243 วันของโลก และใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 225 วันของโลก นั่นหมายความว่า 1 วันบนดาวศุกร์จะนานกว่า 1 ปีบนดาวศุกร์เล็กน้อย
หากเราอาศัยอยู่บนดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทุก ๆ 117 วันของโลก ฟังดูช่างเป็นวันที่ยาวนานจริง ๆ และความจริงอีกอย่างคือดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองแบบทวนเข็มนาฬิกา ดังนั้นดวงอาทิตย์จึงจะขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออก
แล้วคำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรที่ทำให้ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองนานขนาดนั้น ?
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า สิ่งที่ทำหน้าที่เหมือน “เบรก” จนทำให้ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองได้ช้ามาก ๆ อาจจะเป็นชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นและมีพายุของดาวศุกร์นั่นเอง
สตีเฟน เคน (Stephen Kane) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ผู้เขียนรายงานบอกว่า “เรามักคิดว่าชั้นบรรยากาศบาง ๆ นั้นแทบจะแยกออกจากดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง และมีปฏิสัมพันธ์กับดาวเคราะห์น้อยที่สุด แต่ชั้นบรรยากาศอันทรงพลังของดาวศุกร์กำลังสอนเราว่า ชั้นบรรยากาศเป็นส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ และส่งผลกระทบต่อดาวเคราะห์อย่างแน่นอน”
ที่มาข้อมูล Space, Spaceplace.NASA
ที่มารูปภาพ NASA