รีเซต

5 หญิงแกร่งในวงการเทคโนโลยี ตอบโจทย์ Empower Women แบบ Miss Universe

5 หญิงแกร่งในวงการเทคโนโลยี ตอบโจทย์ Empower Women แบบ Miss Universe
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2566 ( 18:25 )
56
5 หญิงแกร่งในวงการเทคโนโลยี ตอบโจทย์ Empower Women แบบ Miss Universe

“หากคุณสามารถเป็นผู้หญิงคนอื่นได้ 1 ปี คุณจะเลือกเป็นใครและเพราะเหตุใด” 


นี่คือคำถามรอบสุดท้ายของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2023 (Miss Universe 2023) ที่เพิ่งจบไป ซึ่ง 3 สาวงามที่ได้เข้า Top 3 ได้แก่จากประเทศออสเตรเลีย นิการากัว และ แอนโทเนีย โพซิ้ว ( Anntonia Porsild) ตัวแทนจากประเทศไทย ก็ได้เลือกผู้หญิงคนละ 1 คนที่พวกเธออยากเป็น 


มารายา วิลสัน (Moraya Wilson) ตัวแทนประเทศออสเตรเลียเลือกแม่ของเธอ แอนโทเนีย เลือกมาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) นักสิทธิมนุษยชนหญิงชาวปากีสถาน ผู้ต่อสู่เพื่อสิทธิการศึกษาของผู้หญิงในปากีสถาน ในขณะที่เชย์นิส ปาลาซิออส (Sheynnis Palacios) จากนิการากัว เลือกแมรี โวลสโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) นักคิด นักปรัชญาชาวอังกฤษ ผู้เป็นต้นแบบของเฟมินิสต์รุ่นบุกเบิกในศตวรรษที่ 18 จนส่งผลให้มงลงนิคารากัวในที่สุด


คำตอบของทั้ง 3 สาวงาม ก็นับว่าตรงกับโจทย์ Empowering Women หรือการสนับสนุนพลังของผู้หญิง ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดประกวดของมิสยูนิเวิร์ส จนทำให้ผู้คนสนใจและค้นหาเพื่อทำความรู้สึกหญิงต้นแบบอย่างมาลาลา ยูซาฟไซ และ แมรี โวลสโตนคราฟต์ กันอย่างล้นหลาม แต่ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์ของเรา ก็มีผู้หญิงที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกอีกจำนวนมาก วันนี้ TNN Tech จึงได้นำผู้หญิงแกร่ง 5 คน ที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในประวัติศาสตร์ของเรามาให้ทำความรู้จักกัน


1. เอด้า เลิฟเลซ (Ada Lovelace : 1815 - 1852) โปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก

หลายคนน่าจะรู้จักคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่พัฒนาโดยแอลัน ทัวริง (Alan Turing) ที่สร้างขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ว่าย้อนไปก่อนหน้านั้น ก็มีการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อนแล้ว และ 1 ในบรรดาโปรแกรมเมอร์ก็เป็นผู้หญิงด้วย ชื่อของเธอคือเอด้า เลิฟเลซ (Ada Lovelace) เธอมีความสามารถด้านทักษะทางคณิตศาสตร์โดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก จนทำให้ได้ทำงานร่วมกับชาร์ลส์ แบบเบจ (Charles Babbage นักคณิตศาสตร์ นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ) และร่วมกันประดิษฐ์ชื่อ “เครื่องกลวิเคราะห์ (Analytical Engine)” ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่มีความซับซ้อน มันไม่เคยถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ แต่ก็ถือว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับคอมพิวเตอร์ในยุคต่อ ๆ มา รวมถึงแอลัน ทัวริง ก็ได้ใช้การศึกษานี้ของเลิฟเลซ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกด้วยเช่นกัน ด้วยผลงานนี้เองที่ทำให้เลิฟเลซ มักได้รับการยอมรับว่าเป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกของโลก 


2. เกรซ เอ็ม ฮอปเปอร์ (Grace M. Hopper) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์

พลเรือตรีเกรซ ฮอปเปอร์ (Grace M. Hopper) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก และเป็นหนึ่งในโปรแกรมเมอร์กลุ่มแรก ๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับฮาวาร์ด มาร์ก 1 (Havard Mark I คอมพิวเตอร์ระบบเครื่องกลไฟฟ้ายุคแรกๆ ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดโดยความร่วมมือกับ IBM (International Business Machines)) จนนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นโคบอล (COBOL) ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ในยุคแรก ๆ ที่เรายังใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ เธอเป็นคนแรกที่ค้นพบบัก (Bug) ของคอมพิวเตอร์ในปี 1947 และเป็นผู้บัญญัติคำว่า “ดีบัก (Debuging)”


3. เฮดี้ ลามาร์ (Hedy Lamarr) ผู้วางรากฐานเทคโนโลยีไวไฟ

ปี 1942 เฮดี้ ลามาร์ (Hedy Lamarr) ได้รับสิทธิบัตรสำหรับสิ่งที่เรียกว่า “ระบบการสื่อสารลับ (Secret Communication System)” ที่เธอพัฒนาร่วมกับจอร์จ แอนเธล (George Antheil นักแต่งเพลง นักเปียโน นักเขียน และนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน) จุดมุ่งหมายของการศึกษานี้คือเพื่อตั้งค่าการกำหนดเส้นทางของตอร์ปิโดนำวิถีด้วยวิทยุในช่วงสงคราม แต่ในภายหลังมันก็ได้ถูกพัฒนาต่อมาเป็นไวไฟ จีพีเอส และบลูทูธที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน


4. ราเดีย เพิร์ลแมน (Radia Perlman) มารดาแห่งอินเทอร์เน็ต

ราเดีย เพิร์ลแมน ได้ประดิษฐ์อัลกอริธึมที่อยู่เบื้องหลังโปรโตคอลสแปนนิง ทรี (Spanning Tree Protocol หรือ STP) อัลกอริธึมสำคัญที่ใช้ป้องกันการวนซ้ำในเครือข่ายอีเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นรากฐานของอินเทอร์เน็ตที่เราใช้ในยุคปัจจุบัน งานของเธอส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่เครือข่ายจัดระเบียบและย้ายข้อมูลด้วยตนเอง และนำกฎพื้นฐานของการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ตมาใช้ 


5. แคทเธอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson) นักคณิตศาสตร์ของ NASA ผู้คำนวนวิถีวงโคจรจนทำให้การขึ้นบินครั้งแรกของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ

หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่องฮิดเดน ฟิกเกอร์ (Hidden Figures) หรือชื่อไทยคือทีมเงาอัจฉริยะ คงรู้จักเรื่องราวของ แคทเธอรีน จอห์นสัน มาบ้างแล้ว ซึ่งเธอเป็นนักคณิตศาสตร์ขององค์การนาซา (NASA) ที่คำนวนและวิเคราะห์วิถีโคจรของยานอวกาศ มีความสำคัญอย่างมากต่อการบินครั้งแรกของสหรัฐฯ จนประสบความสำเร็จ และการคำนวนด้วยมือี่วับซ้อนของเธอ ก็มีส่วนสำคัญในภารกิจครั้งต่อ ๆ ไปของนาซาด้วย อย่างเช่น ภารกิจการพาชาวอเมริกันคนแรกอย่างจอห์น เกล็น (John Glenn) ขึ้นสู่วงโคจร เธอได้รับความไว้วางใจจากเกล็นอย่างมาก เขาถึงขนาดเคยบอกว่า “ถ้าเธอ (จอห์นสัน) บอกว่ามันดี ฉันก็พร้อมที่จะไป”


เมื่ออายุ 97 ปี จอห์นสันได้รับรางวัลเหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดี (Presidential Medal of Freedom) จากประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Obama) ซึ่งรางวัลนี้ถือเป็นเกียรติยศพลเรือนสูงสุดของอเมริกา


ที่มาข้อมูล Globalapptesting

ที่มารูปภาพ MissUniverse, Wikipedia, Technology, Deviantart

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง