สถานีชาร์จไฟฟ้า บอกลาใช้ฟรีแล้ว! แต่ละที่คิดอัตราค่าบริการเท่าไหร่?
สถานีชาร์จไฟฟ้า สำหรับรถอีวีในไทย ทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับความนิยมและความต้องการใช้รถอีวีในประเทศ หลังจากที่รัฐบาลได้ส่งเสริมการผลิต และสนับสนุนประชาชนใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
โดยที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนได้ส่งเสริมการใช้รถอีวี ด้วยการเพิ่ม สถานีชาร์จไฟฟ้า และให้บริการฟรี ไม่คิดเงิน ล่าสุด บรรดาผู้ให้บริการได้เริ่มเก็บค่าบริการในการชาร์จต่อครั้งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว โดยราคาของแต่ละสถานีจะแตกต่างกันเล็กน้อย (ตามภาพประกอบด้านล่าง)
สำหรับการคิดค่าบริการของแต่ละสถานี คิดอัตราค่าบริการตั้งแต่ 4.50 บาทต่อหน่วย ไปจนถึง 9 บาทต่อหน่วย แต่หากประชาชนใช้ไฟบ้านสำหรับชาร์จเอง จะเสียค่าบริการอยู่ที่ประมาณ 2.6-5 บาท/หน่วย
ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันตลาดรถอีวีให้เติบโตนั้น ก็มาจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่เพิ่งออกมาช่วยกระตุ้นตลาดรถอีวีได้อย่างมาก ทำให้การแข่งขันคึกคัก โดยเฉพาะค่ายรถจากจีนที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยก่อนใคร นำร่องชิงลูกค้าไปแล้ว จะเห็นได้ชัดจากงาน มอเตอร์โชว์ ปี 2565 ผู้ผลิตอีวีคาร์จีน ฟัน Market share ในไทยได้ถึง 80% ด้วยจุดแข็งการเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อไทยในวงกว้างมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีมาตรการภาษีและเงินสนับสนุนของภาครัฐ 70,000-100,000 บาท เข้ามากระทุ้งตลาด ทำให้รถอีวีสัญชาติจีนขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงขึ้นเรื่อยๆ จึงยิ่งส่งให้รถอีวีสัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และได้เปรียบในการสร้างความรับรู้และชิงส่วนแบ่งการตลาดในทันที
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดการณ์ด้วยว่ายอดขายรถยนต์ BEVหรือรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ ในประเทศปี 2565 อาจทำได้ระหว่าง 4,000 ถึง 5,000 คัน ที่แม้จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ถึง 0.6% ของยอดขายรวมทั้งปีที่คาดว่าจะทำได้ 780,000 ถึง 820,000 คัน แต่หากมาตรการที่ออกมาสามารถกระตุ้นทั้งฝั่งผู้ซื้อและค่ายรถได้ดี ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นได้ในอัตราเร่งในปีถัดๆ ไป จนอาจเพิ่มขึ้นไปถึงตัวเลขยอดขายต่อปีที่ 25,000 คันได้ในปี 2568 ที่โครงการจบ
ต้องติดตามว่า เมื่อบรรดาผู้ให้บริการ สถานีชาร์จไฟฟ้า เริ่มคิดเงินแล้วจะส่งผลให้ความนิยมรถพลังงานไฟฟ้าลดลงหรือไม่ รวมทั้งในอนาคตสถานีบริการจะเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อปริมาณรถอีวีในประเทศมากน้อยแค่ไหน ภาพของเมืองพลังงานสะอาดจะเกิดขึ้นในไทยได้ช้าหรือเร็วยังต้องคอยดูสถานการณ์กันต่อไปเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ภาพ: TNN ONLINE,PTT Station