รีเซต

กรมควบคุมโรค สั่งนำเข้า วันซีนฝีดาษลิง 3,000 โดส เตรียมเริ่มใช้ในกลุ่มเสี่ยงก่อน

กรมควบคุมโรค สั่งนำเข้า วันซีนฝีดาษลิง 3,000 โดส เตรียมเริ่มใช้ในกลุ่มเสี่ยงก่อน
TNN ช่อง16
6 กันยายน 2567 ( 15:33 )
12

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังประชุม อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 5/2567 ซึ่งมีวาระการพิจารณาแนวทางการใช้วัคซีนฝีดาษลิง เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประกอบด้วยอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ราชวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการพิจารณาเรื่องวัคซีน ซึ่งได้ประเมินสถานการณ์โรคฝีดาษลิงว่า การระบาดยังต่ำโอกาสการแพร่ระบาดยังไม่สูงมาก ต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมากๆ และอาการของโรคไม่ได้มีเรื่องไอ น้ำมูก เป็นหลัก แม้แต่โรคฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 2 ที่มีในประเทศไทยอยู่แล้วก็ยังไม่ได้ระบาดรุนแรง ถึงแม้การระบาดจะไม่รุนแรง แต่ก็ต้องมีแนวทางป้องกัน โดยเฉพาะฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 


ทั้งนี้สำหรับ วัคซีนฝีดาษลิง  ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทใดมาขึ้นทะเบียน กรมควบคุมโรคจึงใช้ มาตรา 13(5) เพื่อการควบคุมโรค ตาม พระราชบัญญัติ ยา พ.ศ.2510 ในการขอนำเข้า จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ซึ่งจะใช้งบประมาณ ของกรมควบคุมโรค วงเงิน 21 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว รวม 3,000 โดส เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง   3 กลุ่ม ประกอบด้วย  1. บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น ไปสัมผัสเสี่ยงสูง คือ สัมผัสคนติดเชื้อ 2. กลุ่มไปสัมผัสโรค เสี่ยงว่าจะติดเชื้อ จะฉีดภายใน 4 วัน และ3. มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดคนติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวที่ติดเชื้อ ซึ่ง 3 กลุ่มเสี่ยงนี้ กรมควบคุมโรคจะดูแลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนอีกกลุ่มที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคนั้น อาจจะต้องฉีดโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งปัจจุบันมีที่สภากาชาดไทย ไม่ได้มีจำหน่ายในสถานพยาบาลทั่วไป  ทั้งนี้กรมควบคุมโรคย้ำว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกคน ควรฉีดกลุ่มคนที่เสี่ยงจริงๆ โดยการสั่งซื้อวัคซีนฝีดาษลิงจะพร้อมส่งให้กับประเทศไทยภายใน 4 เดือน พร้อมขอยืนยันว่า โรคฝีดาษลิง อัตราการระบาดต่ำ ไม่มีการระบาดทั่วไปในคนไทย โดยเฉพาะเคลด 1 บี   ที่พบ ในชาวต่างชาติวัย 66 ปีก่อนหน้านี้และตอนนี้อาการหายดีออกจากโรงพยาบาลแล้ว  รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ยังพบผู้ป่วยในกลุ่มเฉพาะ 

 

ซึ่งสถานการณ์โรคฝีดาษลิง ตั้งแต่ปี 2565   พบมากในชายไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม ผู้ขายบริการทางเพศ ชายรักษา รวม 833 ราย ส่วนคนเสียชีวิต คือผู้ป่วยที่เป็นเอชไอวีร่วมด้วย   รวมแล้วเสียชีวิตสะสม 13 ราย  ที่เป็นสายพันธุ์เคลด โดยในปี 2566 พบผู้ป่วย 673 ราย แต่ในปีนี้ 2567 พบป่วยลดลงลง เหลือ 146 ราย ในกลุ่มเดิมๆ คือ ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไม่มีการแพร่กระจาย ดังนั้นความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนทุกคนจึงต่ำมาก จึงฉีดให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ที่จะได้รับวัคซีนฝีดาษลิงนั้นจะต้องผ่านการคัดกรอง ประเมินจากเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค 

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว่าวัคซีนที่กรมควบคุมโรค จะนำเข้ามานั้น ให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่กำหนดเท่านั้น และวันนี้ยังไม่มี วัคซีนฝีดาษลิงโดยตรง   เช่น ที่กรมควบคุมโรค จะนำเข้ามา เป็นวัคซีน (Mpox) ที่พัฒนาขึ้นมาแต่ผ่านการวิจัยจากบริษัทแล้ว และต้องเข้ามาผ่านการรับรองจาก อย. เบื้องต้นจากข้อมูล เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและสามารถใช้ได้กับประเทศไทยผลข้างเคียงน้อย สามารถลดการติดเชื้อร้อยละ80 และลดความรุนแรงของโรค กว่า ร้อยละ 90

 

ขณะนี้วัคซีนที่จะนำเข้ามาวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อควบคุมการระบาด แต่ไม่ใช่เพื่อให้กับทุกคนเพื่อการป้องกัน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการรักษาอนามัยส่วนบุคคล หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า และการหลีกเลี่ยงการสัมผัส แนบชิดใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อบริเวณผื่นแผลต่างๆตามร่างกาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง