รีเซต

25 ปีเส้นทางการเมือง “ทักษิณ” ประกาศกลับไทยในรอบ 17 ปี

25 ปีเส้นทางการเมือง “ทักษิณ” ประกาศกลับไทยในรอบ 17 ปี
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2566 ( 10:04 )
125
25 ปีเส้นทางการเมือง “ทักษิณ” ประกาศกลับไทยในรอบ 17 ปี

เรียกได้ว่าเป็นกระแสร้อนแรงทางการเมือง ส่งท้ายปลายเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ประกาศเดินทางกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ซึ่งหากอดีตนายกฯ ทักษิณ เดินทางกลับมาประเทศไทยจริง จะเป็นการกลับสู่แผ่นดินเกิดครั้งแรกในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่เดินทางออกนอกประเทศเมื่อปี 2551 โดย "อุ๊งอิ๊ง” นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก และอยู่ในสถานะ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เป็นผู้แจ้งข่าวนี้ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 26 กรมกฎคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันเกิดครบรอบ 74 ปี ของผู้เป็นบิดา โดยระบุข้อความว่า  



"26 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ววันที่ 10 สิงหาคมนี้ ที่สนามบินดอนเมือง" 

เช่นเดียวกับ อดีตนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวคนเล็กของ อดีตนายกฯทักษิณ  ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 


"น้องหวังว่าพี่จะมีความสุขในชีวิต และประสบความสำเร็จ . เวลาที่พวกเราเฝ้ารอคอยมาถึงแล้วค่ะ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่พี่ดูแลน้อง ตั้งแต่น้องจากประเทศไทยมา ถ้าน้องไม่มีพี่น้องคงไม่สามารถที่จะยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็งแบบนี้"




แน่นอนว่า การประกาศกลับไทย ของ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างหลายปรากฏการณ์ ในแวดวงการเมืองไทย หลังก่อตั้งพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2541 โดยเฉพาะการนำพาพรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ 377 เสียง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 จนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่กลับบริหารประเทศได้ไม่ถึง 1 ปี เนื่องจากเกิดการชุมนุมต่อต้าน กรณีบริษัท ชิน 

คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ ในเดือนมกราคม 2559 จนสุดท้ายรัฐบาลไทยรักไทยจึงประกาศยุบสภาฯ คืนอำนาจให้ประชาชนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 



อีกเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนบนเส้นทางการเมืองของ อดีตนายกฯ ทักษิณ  นั่นก็คือ  เหตุการณ์ในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549  คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจ “รัฐบาลรักษาการ” ของ “ทักษิณ ชินวัตร”  นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี พร้อมสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง ที่มีกำหนดจัดจึ้นในเดือนตุลาคม 2549 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสั่งยุบรัฐสภา  ก่อนที่พรรคไทยรักไทย จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และกลายมาเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงเวลานี้ มีเหตุการณ์สำคัญคือ อดีนายกฯ ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 พร้อมกับฉากสำคัญ นั่นคือการ “ก้มกราบแผ่นดิน” ที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ต่อมา ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 อดีตนายกฯ  ทักษิณ ได้ออกจากประเทศไทยอีกครั้ง หลังอยู่ได้เพียง 5 เดือน เมื่อศาลอนุญาตให้เดินทางไปร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน ก่อนจะไม่ได้กลับอีกเลยนับจากนั้น



ต่อมาพรรคพลังประชาชนถูกยุบ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 และกลายมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย  ก่อนจะถูกรัฐประหาร ซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น 




บนเส้นทางทางการเมือง 25 ปี นับจากวันก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ในปี 2541 “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย  ต้องหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง 17 ปี วันนี้เจ้าตัวประกาศพร้อมเดินทางกลับแผ่นดินแม่ ถือเป็นอีกครั้งที่มีการแสดงเจตนาในการเดินทางกลับไทย โดยนับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566  พบว่า “ทักษิณ  ชินวัตร “ ประกาศกลับไทยมาแล้วเกือบ 20 ครั้ง ส่วนคดีที่ยังไม่หมดอายุความ ทำให้ต้องกลับมารับโทษจำคุกรวมกัน 10 ปี ประกอบด้วย คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ คดีหวยบนดิน , คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำ

เข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank ) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท และ คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน



นับจากนี้ไปจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2566 จะมีปัจจัยเสี่ยงใดเข้ามาทำให้กำหนดการเดินทางกลับไทย ของ อดีตนายกฯ ทักษิณ  ต้องถูกเลื่อน หรือยกเลิกไปอีกหรือไม่ รวมถึงการกลับแผ่นดินเกิดในห้วงเวลานี้ จะมีความเชื่อมโยงกับการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพรรคเพื่อไทยหรือไม่... แต่ที่แน่ๆ นาทีนี้ต้องบอกว่า...การเมืองไทยแทบจะ...หยุดเวลาไว้ที่วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 จริงๆ  




เรียบเรียงโดย : ปุลญดา  บัวคณิศร


ภาพ : รอยเตอร์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง