เปิดผลสำรวจครึ่งปี 2568 คนไทยกังวล"เศรษฐกิจ" หวั่นตกงาน-รายได้ลด ไม่อยากจ่ายภาษีเพิ่ม

"เศรษฐกิจ" เป็นเรื่องใหญ่ที่คนไทยกังวลมากที่สุด
ข้อมูลอ้างอิงจากการสำรวจความเห็นล่าสุด จากทางอิปซอสส์ (Ipsos) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ที่เปิดเผยรายงานชุด “What Worries Thailand H1 2025" เรื่องความกังวลใจสูงสุดของคนไทยในครึ่งแรก ปี 2568 โดยมีการศึกษาประเด็นความกังวลของประชาชนคนไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565
นอกจากจะสะท้อนความรู้สึกของคนไทยในวันนี้แล้ว ยังมีคำแนะนำสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการปรับตัวและวางแผนกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความกังวลของคนไทยที่ส่งผลต่อภาพรวมของตลาดและภาคธุรกิจในปัจจุบันอีกด้วย
ทั้งนี้จากรายงาน มีการสรุป 5 อันดับคนไทยกังวลใจสูงสุด ในครึ่งปีแรก ปี 2568 นี้ ปรากฎกว่า
1. การเงินและการทุจริตทางการเมือง (Financial / Political corruption) ที่ 45%
2. ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม (Poverty & Social inequality) 37%
3. การว่างงาน (Unemployment) 31%
4. ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) 24%
5. อาชญากรรมและความรุนแรง (Crime & Violence) 22%
คนไทยกังวลการเงินมากที่สุด แต่ในขณะที่ภาพรวมระดับโลกปรากฎว่า ผู้คนทั่วโลก กังวลเรื่อง “ภาวะเงินเฟ้อ” มากที่สุด นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยดูเหมือนว่า ปัญหาสังคม จะเป็นประเด็นที่คนไทยมีความกังวลเป็นอันดับต้นๆ มาโดยตลอด ซึ่งผลสำรวจในครึ่งแรกของปี 2568 นี้ (H1 2025) ได้จัดลำดับความกังวลของคนไทยไว้ด้วย พบว่า คนไทยมองสังคมว่ากำลังวิกฤติมากถึง 77% และเป็นตัวเลขที่สูงสุดในโลก เปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกอยู่เพียงแค่ 61%
คนไทยเกินครึ่งที่ตอบแบบสอบถาม หรือ 56% คิดเห็นว่าประเทศไทยกำลังมาผิดทาง (Wrong Track) ขณะที่ความเห็นด้านความรู้สึกเปราะบางในสังคมและประเทศ (Society is Broken) พบว่า 66% ของคนไทยเชื่อว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ใน “ภาวะวิกฤติ” และ 60% มองว่าประเทศกำลังอยู่ใน “ภาวะถดถอย”
นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องหา “ผู้นำ” ที่มีความโดดเด่นและมีอำนาจในการจัดการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยพบว่า 79% ของคนไทยเรียกร้องให้มีผู้นำที่กล้าหาญพอที่จะ “แหกกฎ” เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ
คิดแบบ "เค้ก" คิดแบบ "Cakeism" กระแสที่แรงขึ้นเรื่อยๆ
อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจ ก็คือ ตอนนี้คนไทยกำลังมีแนวคิดแบบ Cakeism หมายถึง มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ต้องการจ่ายภาษีเพิ่มแต่ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มบริการสาธารณะเพื่อมาดูแลคุณภาพชีวิต
รายงานจากทางอิปซอสส์ด้านเศรษฐกิจ สำรวจพบว่าคนไทยเรามีแนวคิดแบบ “Cakeism” ปรากฎชัดเจน ทั้งนี้ Cakeism เป็นการเปรียบเทียบเป็นก้อนเค้ก คือคนก็อยากได้ชิ้นใหญ่แต่ไม่อยากจ่ายเพิ่ม ซึ่งเกิดขึ้นกับคนชั้นกลางหรือมนุษย์เงินเดือนทั่วโลก เนื่องจากต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนบริการสาธารณะด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น สร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อทำให้การใช้ชีวิตดีขึ้น ต้องการได้สิทธิบริการสาธารณะต่างๆ แต่ไม่ต้องการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นไปอีก
รายงานระบุไว้ว่าในประเทศไทยพบว่าแนวคิดแบบ “Cakeism” ยังคงปรากฏชัด โดย 45% ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ แต่ในทางตรงกันข้าม 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามกลับสนับสนุนให้มีการเพิ่มการใช้จ่ายในด้านบริการสาธารณะ
ทุกวันนี้ “มนุษย์เงินเดือน” เป็นกลุ่มที่จ่ายภาษีตรงสัดส่วนมากสุด แต่กลุ่มเหล่านี้มองว่าได้ไม่ได้รับบริการสาธารณะที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นหรือสิ่งที่ต้องการ ปัญหาเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงมองว่าหากต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นในสิ่งที่ยังไม่ได้บริการสาธาระที่ดี “คงเป็นเรื่องที่ไปไม่ได้”
นอกจากนี้การสำรวจครั้งนี้ ยังพบว่า ครึ่งปีที่ผ่าน หลายคน เจอกับปัญหาค่าใช้จ่าย หรือค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายภายในบ้านในอีก 6 เดือนข้างหน้า คนไทยคาดว่าค่าใช้จ่ายทุกด้านจะ “เพิ่มขึ้น” (เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) โดยเรียงลำดับดังนี้
69% ค่าสาธารณูปโภค (+10%)
66% ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์ (+7%)
66% ใช้จ่ายด้านอาหาร (+5%)
62% ค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ในบ้านอื่นๆ (+1%)
44% ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์ (+3% )
38% ค่าที่อยู่อาศัย (+2%)
34% ค่าสมาชิกต่างๆ (+3%)
สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น (เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา) มีดังนี้
81% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ (+4%)
81% นโยบายของรัฐบาล (+4%)
81% สภาวะเศรษฐกิจโลก (+5%)
79% แรงงานเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น (+4%)
77% ธุรกิจต่างๆ มุ่งทำกำไรมากเกินไป (+3%)
หลายปัจจัยรุมเร้าและกดดัน แต่ในขณะที่ความมั่นคงทางการงานที่ควรจะเป็นหลักมั่นในชีวิตก็ลดน้อยถอยลง รายงานระบุว่าคนไทยเกือบ 1 ใน 3 หวั่นใจว่าตัวเองอาจจะต้องตกงานในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้ โดย 59% ระบุว่ารู้จักคนที่เพิ่งตกงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้กระทั่งความมั่นใจในงานของคนในครอบครัว และบุคคลใกล้ชิดก็น้อยลง ซึ่งส่งผลไปถึงความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณอายุหรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน
คนไทยกลัวจนไม่กล้าใช้เงินเยอะ
คนไทยใช้ชีวิตอยู่บนความกลัว โดยเฉพาะกังวลด้านเศรษฐกิจแย่ ส่งผลไปถึงกำลังซื้อในประเทศ หลายคนไม่อยากใช้เงินเยอะ มีไม่กล้าซื้อของชิ้นใหญ่ และของใช้ในบ้าน
คนไทย 65% มองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันกำลังย่ำแย่ลง ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
ความเชื่อมั่นที่ลดลงนี้ทำให้คนไทยไม่กล้าใช้เงินเยอะ มีความลังเลในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าชิ้นใหญ่ (Major Purchase) เช่น บ้าน รถยนต์ พบคนไทยเกินครึ่งหรือ 53% ที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่
ไม่เพียงเท่านั้น ความกังวลยังขยายไปถึงการซื้อของใช้ในบ้านทั่วไป (Household Purchases) เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ โดยพบว่า 46% ของคนไทยรู้สึกไม่สบายใจในการซื้อของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ
ขณะที่ความคาดหวังว่าในอนาคตทุกอย่างจะดีขึ้น ก็ลดลงในทุกกลุ่มรายได้ มีผู้ตอบสำรวจเพียงแค่ 37% ที่คาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า และแน่นอนว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ กลุ่มที่หนักที่สุด มองไม่เห็นทางว่าครึ่งปีหลังนี้เศรษฐกิจทุกอย่างจะดีขึ้นได้
ด้านพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของคนไทย พบว่าครึ่งปีที่ผ่านมา คนไทยเลือกโซเชียลมีเดียช่องทางหลักที่เลือกใช้ในการติดตามข่าวสาร มากถึง 86% ขณะที่ทีวีหรือโทรทัศน์กลายเป็นสื่อรอง อยู่ในอันดับที่ 2 มีสัดส่วนอยู่ที่ 57% และตามด้วยเว็บไซต์ และฟังจากเพื่อนและครอบครัว ตอกย้ำและสะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของแพลตฟอร์มดิจิทัลในชีวิตประจำวันของคนไทย
1. โซเชียลมีเดีย (Social media) 86%
2. โทรทัศน์ (TV news) 57%
3. ข่าวจากเว็บไซต์ (News websites) 52%
4. เพื่อนและครอบครัว (Friends/family) 36%
5. พอดแคสต์ (Podcasts) 18%
6. หนังสือพิมพ์ (Newspapers) 17%
7. วิทยุ (Radio) 11%
8. อื่นๆ 2%
9. ไม่ตอบ 2%
ที่สำคัญ ที่ต้องให้ความใส่ใจกันมากขึ้น คือ คนไทยให้การสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ คนไทยเชื่อว่าการบรรลุความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามสังคมไทยยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ เรื่องความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน คนต่างช่วงวัย แนวคิดเสรีนิยมกับค่านิยมดั้งเดิม
ถามว่า ? ความเห็นเหล่านี้ส่งผลอย่างไรกับธุรกิจ และแบรนด์จะปรับกลยุทธ์ได้อย่างไร ?
ข้อเสนอแนะ จากกทาง “อิปซอสส์” แนะนำว่า ภาคธุรกิจหรือแบรนด์ต้องคืนกำไรสู่สังคมและสร้างผลกระทบเชิงบวก เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าแบรนด์สนับสนุนสังคม จะสามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับแบรนด์ นำไปสู่ Loyalty (ความภักดีที่ลูกค้ามีให้ต่อแบรนด์) และการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นผ่านความโปร่งใส มีการดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาลที่ดีจะส่งเสริมประสบการณ์เชิงบวกให้กับลูกค้า ด้วยการส่งเสริมความเป็นธรรม กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และการสื่อสารที่ชัดเจน
* ที่มา : What Worries the World June 2025: สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 24,737 คน อายุ 16- 74 ปี ใน 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2568
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
