เพนกวินที่แอนตาร์กติกาขับถ่ายก๊าซหัวเราะออกมามากเกินไป ทำเอานักวิจัยขำกลิ้งจนแทบหยุดไม่ได้
เพนกวินจักรพรรดิฝูงหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะใกล้ทวีปแอนตาร์กติกา ขับถ่ายอุจจาระที่มีไนโตรเจนสูงออกมาในปริมาณมากเกินไป ทำให้มีก๊าซหัวเราะซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาวิถีชีวิตของพวกมันอยู่สูดดมเข้าไป จนเกิดอาการเพี้ยนและขำกลิ้งแทบหยุดไม่ได้กันเลยทีเดียว
ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประจำศูนย์ศึกษาชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (CENPERM) แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ระบุถึงเรื่องราวขำขันข้างต้นที่อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแบบขำไม่ออก ในรายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร Science of the Total Environment ฉบับล่าสุด
"มูลของเพนกวินทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์หรือก๊าซหัวเราะในปริมาณค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรอบถิ่นที่อยู่ของฝูงเพนกวินขนาดใหญ่" ศาสตราจารย์ โบ เอลเบอร์ลิง ผู้นำทีมวิจัยกล่าว
ขณะที่ทีมวิจัยของ ศ. เอเบอร์ลิง กำลังศึกษาเพนกวินจักรพรรดิบนเกาะเซาท์จอร์เจีย (South Georgia) ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ระหว่างแผ่นดินอเมริกาใต้กับทวีปแอนตาร์กติกา มีสมาชิกทีมวิจัยผู้หนึ่งเกิดอาการเพี้ยนและหัวเราะขำขึ้นมาอย่างหนักโดยไร้สาเหตุ ส่วนสมาชิกในทีมอีกคนหนึ่งก็มีอาการไม่สบายและปวดศีรษะด้วย
- ทีมถ่ายทำสารคดีบีบีซีแหกกฎช่วยชีวิตฝูงเพนกวิน
- คู่เกย์เพนกวิน ลักพาลูกเพนกวินไปเลี้ยง จนกลายเป็นดรามาในสวนสัตว์เดนมาร์ก
- สวรรค์ในดงกับระเบิดของเพนกวินเกาะฟอล์กแลนด์
คาดว่านักวิจัยผู้เคราะห์ร้ายได้เดินเก็บข้อมูลอยู่ในบริเวณใกล้ฝูงเพนกวินเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จนสูดดมเอาก๊าซหัวเราะจากมูลเพนกวินเข้าไปในปริมาณมากพอสมควร และเกิดเป็นพิษขึ้นดังกล่าว
ก๊าซไนตรัสออกไซด์มาจากมูลของเพนกวินที่มีปริมาณไนโตรเจนสูง เนื่องจากพวกมันกินปลาและตัวคริลล์ (Krill) สัตว์ทะเลมีเปลือกหุ้มรูปร่างคล้ายกุ้งตัวเล็กจิ๋วที่มีไนโตรเจนอยู่มากเป็นอาหาร
มูลของเพนกวินที่ขับถ่ายออกมาจะถูกแบคทีเรียในดินเปลี่ยนให้เป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความเป็นพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่า
"ในกรณีนี้ ก๊าซหัวเราะที่ฝูงเพนกวินผลิตออกมายังไม่มากพอจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก แต่ก็ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ เรื่องที่เพนกวินฝูงใหญ่ส่งผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรอบตัวพวกมันอย่างไรบ้าง เพราะในปัจจุบันประชากรเพนกวินโดยทั่วไปมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และกำลังขยายอาณาเขตของพวกมันออกไปเป็นบริเวณกว้าง" ศ. เอเบอร์ลิงกล่าว