แอปพลิเคชัน Telegram มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท ได้อย่างไร ? ทั้งที่มีพนักงาน 30 คน

Telegram แอปพลิเคชันส่งข้อความยอดนิยมที่ก่อตั้งโดย พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แม้จะมีพนักงานเพียง 30 คน และไม่มีแผนกทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นทางการ ด้วยมูลค่าประเมินกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.1 ล้านล้านบาท Telegram กลายเป็นกรณีศึกษาสำคัญของธุรกิจเทคโนโลยียุคใหม่ที่เน้น “ความคล่องตัว” และ “ประสิทธิภาพ” มากกว่าขนาดขององค์กร
ไม่มีโฆษณาและขายข้อมูลผู้ใช้
Telegram ดำเนินธุรกิจโดยไม่แสดงโฆษณา และไม่ขายข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งแตกต่างจากแพลตฟอร์มคู่แข่งอย่าง WhatsApp หรือ Facebook Messenger โมเดลธุรกิจของ Telegram จึงอิงกับการเติบโตของจำนวนผู้ใช้และศักยภาพเชิงเทคโนโลยีที่สามารถขยายสู่บริการพรีเมียมหรือโมเดลการเงินในอนาคต ตัวอย่างเช่น การเปิดตัว Telegram Premium ที่ให้ผู้ใช้จ่ายรายเดือนเพื่อเข้าถึงฟีเจอร์พิเศษ เช่น ความเร็วในการโหลดสูงขึ้น การใช้งานสติกเกอร์แบบพิเศษ และการอัปโหลดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม
ทำไมมีพนักงานแค่ 30 คน ?
ฮาร์ช โกเอ็นกา (Harsh Goenka) นักธุรกิจชื่อดังของอินเดีย ได้โพสต์ลงใน X หรือเชื่อเดิม Twitter ว่า Telegram ดำเนินงานด้วยพนักงานราว 30 คน และไม่มีฝ่าย HR โดยพาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) จะคัดเลือกทีมงานด้วยตนเองผ่านการแข่งขันเขียนโค้ดหรือการคัดกรองผู้ที่มีผลงานระดับโลกเท่านั้น นี่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง "คุณภาพเหนือปริมาณ" ที่ Telegram ยึดมั่น
พาเวล ดูรอฟ (Pavel Durov) ยังกล่าวว่า ทีมวิศวกรของเขามีประสิทธิภาพเทียบเท่าบริษัทที่มีคนเป็นร้อยหรือพันคน เพราะใช้สถาปัตยกรรมระบบที่มีความเสถียรสูง และการจัดการโครงสร้างภายในที่เรียบง่ายแต่เฉียบคม การไม่มี HR ยังสะท้อนให้เห็นว่า Telegram ไม่ต้องการ “ระบบราชการ” มาขัดขวางนวัตกรรม
การลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชน
Telegram ได้ลงทุนพัฒนา TON (Toncoin) หรือบล็อกเชนที่มีจุดเด่นด้านความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมและค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานในระดับมหาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน Web3 สำหรับ Telegram ซึ่งมีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก
ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการเชื่อมโยงการสื่อสาร แอปพลิเคชัน และบริการการเงินแบบไร้ศูนย์กลางเข้าไว้ด้วยกัน ในฐานะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่พร้อมผลักดัน Telegram ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกในยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ต แม้ยังไม่ทราบงบประมาณและผลกำไรที่บริษัทได้รับจากการลงทุนพัฒนา TON (Toncoin)
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า บริษัทถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 14,800 ล้านบาท ณ ช่วงปลายปี 2023 ก่อนจะเพิ่มการลงทุนเป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 48,100 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2024 ซึ่งสามารถสร้างกำไรให้บริษัทได้ถึง 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 12,400 ล้านบาท ในช่วงสิ้นปี 2024
ปัจจัยความสำเร็จของ Telegram
1. โฟกัสด้านความเป็นส่วนตัว Telegram ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะในประเทศที่มีการควบคุมการสื่อสารเข้มงวด แอปมีฟีเจอร์ “Secret Chat” และการเข้ารหัสข้อมูล
2. ความสามารถในการรองรับกลุ่มขนาดใหญ่ Telegram สามารถสร้างกลุ่มได้สูงสุดถึง 200,000 คน และรองรับการสร้างช่อง (Channel) ที่ผู้ใช้สามารถติดตามข่าวสารได้แบบไม่จำกัดจำนวนผู้ติดตาม
3. ใช้งานข้ามอุปกรณ์ได้อย่างไร้รอยต่อ ผู้ใช้ Telegram สามารถสลับการใช้งานระหว่างมือถือ แท็บเล็ต และเดสก์ท็อปได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ซึ่งต่างจาก WhatsApp ที่ต้องเชื่อมโยงกับโทรศัพท์
4. การออกแบบที่ยืดหยุ่นและไม่ขึ้นกับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง Telegram ไม่ได้ตั้งสำนักงานใหญ่แบบถาวร และตัวดูรอฟเองก็ไม่ได้อยู่ในประเทศใดเป็นหลัก จึงลดความเสี่ยงจากการถูกรัฐบาลแทรกแซง
ความสำเร็จของ Telegram แสดงให้เห็นว่าองค์กรขนาดเล็กที่มีโครงสร้างเรียบง่ายสามารถสร้างมูลค่ามหาศาลได้ หากมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นที่คุณค่าที่มอบให้กับผู้ใช้. แนวทางของ Telegram ในการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้และการสร้างรายได้โดยไม่พึ่งพาโฆษณาแบบดั้งเดิม เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน