รีเซต

BEM โตต่อเนื่อง Q3 รายได้แตะ 4,448 ลบ. กำไร 970 ลบ. ผลจากศก.-ท่องเที่ยวฟื้นตัว

BEM โตต่อเนื่อง Q3 รายได้แตะ 4,448 ลบ. กำไร 970 ลบ. ผลจากศก.-ท่องเที่ยวฟื้นตัว
ทันหุ้น
14 พฤศจิกายน 2566 ( 14:32 )
35
BEM โตต่อเนื่อง Q3 รายได้แตะ 4,448 ลบ. กำไร 970 ลบ. ผลจากศก.-ท่องเที่ยวฟื้นตัว

#ทันหุ้น - ภาพรวมของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การดำเนินงานของ BEM โตต่อเนื่อง ไตรมาส 3/2566 ทำรายได้ทะยาน 4,448 ลบ. (รวมเงินปันผลรับและรายได้อื่น) กำไรสุทธิ 970 ลบ. ขณะที่กำไรสุทธิงวดเก้าเดือนปี 2566 พุ่ง 2,620 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินงานที่ให้ความสำคัญด้าน ESG

 

ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2566 ว่า “ในไตรมาสนี้ภาพรวมของรายได้ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยมีรายได้จากการให้บริการ จำนวน 4,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 443 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 970 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 107 ล้านบาท หรือร้อยละ 12เช่นเดียวกัน”

สำหรับรายได้ธุรกิจทั้ง 3 ส่วนของบริษัท แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจทางพิเศษ จำนวน 2,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 106 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนทุกสายทาง โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วน ในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.11 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยเฉพาะทางพิเศษศรีรัชส่วนบีและส่วนดี เนื่องจากเป็นสายทางที่เชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีการเติบโตที่สูงกว่าสายทางอื่น เป็นผลจากการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวกลับมา รวมถึงทางพิเศษศรีรัช- วงแหวนรอบนอก (ทางพิเศษประจิมรัถยา) ยังคงมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

รายได้จากธุรกิจระบบราง หรือรถไฟฟ้า MRT มีจำนวน 1,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 300 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น 243 ล้านบาท โดยผู้ใช้บริการในไตรมาสนี้เฉลี่ยทุกประเภทวันอยู่ที่ 410,590 เที่ยวต่อวัน โดยในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 เป็นวันที่มีจำนวนผู้โดยสารสูงที่สุดจำนวน 526,900 เที่ยว ในส่วนของรายได้รับจ้างเดินรถโครงการสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 57 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน

 

รายได้จากธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีจำนวน 279 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 37 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของรายได้การให้เช่าพื้นที่สื่อโฆษณาและให้เช่าพื้นที่ร้านค้าปลีกใน Metro Mall

 

ขณะเดียวกัน ผลประกอบการของงวดเก้าเดือนปี 2566 ยังแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของ BEM อย่างชัดเจน ด้วยกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท มีจำนวนถึง 2,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 787 ล้านบาท หรือร้อยละ 43

 

ด้าน บล.หยวนต้า ชี้กำไร New High ตามที่ตลาดคาด รายงานรายได้และกำไรปกติ Q3/66 ที่ 4.2 พันลบ. (+7.0% QoQ, +11.9% YoY) และ 970 ลบ. (+7.7% QoQ, +12.4% YoY) ตามลำดับ 

 

รายได้จากธุรกิจทางด่วนอยู่ที่ 2.3 พันลบ. (+5.7% QoQ, +4.9% YoY) ขณะที่ GPM อยู่ที่ 66% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของบริษัท 

 

รายได้ธุรกิจระบบรางเติบโตเด่น (+10.1% QoQ, +22.2% YoY) เป็น 1.7 พันลบ. จากปริมาณผู้ใช้เฉลี่ยในช่วง Q3/66 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.1 แสนราย (+16.8% QoQ, +31.2% YoY) ทำให้กำไรขั้นต้นพลิกกลับเป็นกำไร 134 ลบ. จากขาดทุน 1 ลบ. ในช่วง Q2/66 และเป็นจุดสูงสุดใหม่ของบริษัท 

 

ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์มีรายได้อยู่ที่ 279 ลบ. (+0.7% QoQ, +15.5% YoY) แต่อัตรากำไรขั้นต้นลดลงทั้ง QoQ และ YoY เป็น 60.6% จากผลกระทบของอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นจาก การเพิ่มขึ้นของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

GPM รวม Q3/66 อยู่ที่ 42.8% (+254 bps QoQ, -115 bps YoY)

 

SG&A อยู่ที่ 297 ลบ. (-7.7% QoQ, +6.7% YoY) และอัตราส่วน SG&A/Sales อยู่ที่ 7.1% ลดลงทั้ง QoQ และ YoY ตามสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับ กำไรปกติ 9M66 ที่ 2.6 พันลบ. คิดเป็น 70% เมื่อเทียบกับประมาณการปี 2566 ของฝ่ายวิจัยที่ 3.8 พันลบ. ทั้งนี้ แม้ประเมินผลการดำเนินงานจากธุรกิจหลักจะเติบโตขึ้นในทุกหน่วยธุรกิจแต่ Q4/66 จะขาดเงินปันผลรับจาก TTW และ CKP เบื้องต้นคาดประมาณการกำไรทั้งปี 2566 ของฝ่ายวิจัยจะมี Downside risk เล็กน้อยที่ราว 5% +/-

คงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2567 ลงจาก 11.50 บาท/หุ้น เป็น 9.80 บาท/หุ้น สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการปรับสมมติฐานอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด(Rm) เพิ่มขึ้นเป็น 9.0% ทำให้ DCF WACC เพิ่มขึ้น จาก 5.2% เป็น 5.6% (T.G. 2%) เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของปัจจัยมหภาค อาทิ เงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของไทยที่เร่งตัวขึ้นในช่วง Q3/66 ที่ผ่านมา

 

BEM ยังมี Upside risk สำคัญอีกเป็นจำนวนมากที่ฝ่ายวิจัยยังไม่รวมไว้ในประมาณการได้แก่ (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก คาดเห็นความคืบหน้าหลังการอนุมัติงบประมาณปี 2567 (คาดอยู่ในช่วง Q2/67) เบื้องต้นจะคิดเป็น Upside risk ที่ระดับ 1.50-2.00 บาท/หุ้น (2) โครงการทางด่วน Double Deck ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างประเมิน EIA คาดแล้วเสร็จในช่วง Q4/66-Q1/67 และการเจรจาคาดแล้วเสร็จภายใน 1H67 และ (3) รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้คาดการเจรจาระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อหาผู้เดินรถจะเริ่มในช่วง 1H67

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง