รีเซต

จับตา! ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเล กระทบถึงไทยไหม?

จับตา! ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงทะเล กระทบถึงไทยไหม?
Ingonn
20 เมษายน 2564 ( 18:38 )
2.2K

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟุกุชิมะมากกว่า 1 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรภายใน 2 ปี หลังจากเก็บกักไว้นานเป็นสิบปีที่ แม้ผ่านการบำบัดแล้ว ท่ามกลางความกังวลจากประเทศเพื่อนบ้าน และกระแสคัดค้านจากชุมชนชาวประมงในท้องถิ่น

 

 

โดยปกติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลหรือแม่น้ำ เป็นประจำ ซึ่งได้วางกฎระเบียบไว้สำหรับทั่วโลก ในการจำกัดปริมาตรการทิ้งของเหลวปนเปื้อนกัมมันตรังสี เพื่อให้มีการรับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

 

 

ทำไมญี่ปุ่นต้องปล่อยน้ำเสียลงทะเล?


นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 ว่า การตัดสินใจปล่อยน้ำลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการฟื้นฟูฟุกุชิมะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกำจัดน้ำเสียจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะถูกเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว จากเสียงคัดค้านและความกังวลด้านความปลอดภัย แต่เนื่องจากขาดแคลนสถานที่ในการกักเก็บน้ำที่ผ่านการบำบัดลงในปีหน้า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตัดสินใจ ทั้งนี้ รัฐบาลจะปล่อยน้ำออกมาสู่มหาสมุทรก็ต่อเมื่อแน่ใจว่ามันปลอดภัย โดยจะเริ่มปล่อยน้ำใน 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาหลายสิบปี

 

 

ปล่อยลงทะเลไม่อันตรายหรอ?


บริษัท โตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ หรือ เทปโก (TEPCO) และรัฐบาลระบุว่า ไม่สามารถนำสารทริเทียมซึ่งเป็นหนึ่งในสารกัมมันตรังสีที่ไม่เป็นอันตรายในกรณีที่มีปริมาณน้อย ออกจากน้ำได้ แต่สารกัมมันตรังสีอื่นๆ สามารถลดระดับลงจนสามารถปล่อยทิ้งได้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก

 

 

ปริมาณของน้ำปนเปื้อนที่จะถูกปล่อย หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพจะเท่ากับ สระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิกประมาณ 500 สระ โดยจะต้องได้รับการกรองเพื่อกำจัดสารที่เป็นอันตราย และจะเจือจางสารปนเปื้อนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเล

 

 

น้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมาจากไหน?


สาเหตุที่มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เกิดจากการใช้น้ำหล่อแกนกลางเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิให้เย็นลง เมื่อน้ำเหล่านี้นำไปหล่อเตาปฏิกรณ์ จึงเกิดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไปด้วย และจำต้องไปเก็บในแท็งก์พิเศษดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังจะไม่เหลือที่พอสำหรับเก็บน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ นอกจากนี้ บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์และเก็บรักษาน้ำปนเปื้อนไปแล้วถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

 


นานาชาติบอกว่าไม่ไหวนะ


เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ออกมาแสดงความคิดเห็นตรงกันกับจีน และรัสเซียในการต่อต้านญี่ปุ่น ชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ กรณีที่ญี่ปุ่นจะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

  • จีนขอให้ญี่ปุ่นคำนึงถึงผลกระทบของกัมมันตรังสี โดยระบุว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมักจะออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศมีความรับผิดชอบในประเด็นต่างๆ และตอนนี้เป็นเวลาที่ประชาคมโลกกำลังจับตามองการแสดงความรับผิดชอบของญี่ปุ่น เนื่องจากการปล่อยน้ำกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลเป็นประเด็นร้ายแรงที่ญี่ปุ่นจะปิดหูปิดตาทำเป็นไม่รับรู้ไม่ได้

 

  • ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ระบุว่า การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล เป็นความเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล และความปลอดภัยของบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน

 

  • ด้านสภาพลังงานปรมาณูนิวเคลียร์ของไต้หวัน แสดงความเสียใจและผิดหวังต่อการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยบอกว่าก่อนหน้านี้ไต้หวันคัดค้านเรื่องนี้มาตลอด ล่าสุดก็ได้ตั้งจุดตรวจสอบคุณภาพน้ำ 33 แห่งบริเวณใกล้กับเกาะไต้หวัน เพื่อดูเรื่องผลกระทบจากกัมมันตรังสี 

 

 

ประมงท้องถิ่นยกมือไหว้ขอ


นอกจากนานาชาติแล้ว ทั้งชาวประมงท้องถิ่นและนักสิ่งแวดล้อมในญี่ปุ่นต่างร้องขอให้รัฐบาลเปลี่ยนการตัดสินใจเนื่องจากทั้งชาวประมงและนักสิ่งแวดล้อมได้ใช้ความพยายามมาเกือบทศวรรษ เพื่อสร้างชื่อเสียงกลับคืนมาให้ฟุกุชิมะ อันเป็นพื้นที่ที่ยังมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ตรวจจับได้

 

ตามสถิติจากอุตสาหกรรมการประมงจังหวัดฟุกุชิมะ ตั้งแต่เกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหลเมื่อปี 2011 อุตสาหกรรมประมงของจังหวัดที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 11,000 ล้านเยนต่อปี มีมูลค่าลดลงฮวบฮาบเพราะลูกค้าปฏิเสธสั่งสินค้า และแม้ว่าสินค้าประมงจากฟุกุชิมะจะไม่พบสารปนเปื้อนมานานตั้งแต่ปี 2015 แต่ในปี 2019 ก็ยังมีมูลค่าอยู่เพียง 1,000 ล้านเยนเท่านั้น ด้วยชื่อเสียงที่ยังไม่กลับมาเหมือนเก่า

 

 

สหรัฐฯ หนุนญี่ปุ่น บอกเป็นไปตามมาตรฐานสากล


ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าผลการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นไปตามมาตรฐานโลก ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ทวีตข้อความชื่นชมรัฐบาลญี่ปุ่นที่แสดงออกถึงความโปร่งใส ของการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ

 

ขณะที่บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ ชี้ว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีหนุนญี่ปุ่น เป็นการตอกย้ำการตอบแทนผลประโยชน์ของความจงรักภักดีที่ญี่ปุ่นมีต่อสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ คิดว่าประเทศตัวเองอยู่ไกล คงไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่ทะเลทุกแห่งในโลกเชื่อมต่อกันและในอนาคตทุกประเทศต่างมีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่ากัน

 


แล้วไทยได้รับผลกระทบไหม


ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ True ID ว่า ประเทศไทยไม่มีปัญหาแน่นอน ด้วยระยะทางความไกลจากญี่ปุ่นถึงไทย ทำให้สารปนเปื้อนในน้ำคงลอยมาไม่ถึง แต่ประเทศที่จะได้รับผลกระทบ คือ ประเทศที่อยู่ใกล้ เช่น จีน เกาหลี ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เขมร ตามระยะทาง เช่นเดียวกันสารที่ลอยในน้ำก็คงไม่ไปไกลถึงอเมริกาเหมือนกัน

 

โดยกรณี ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลนี้ มีสารทริเทียมเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีโดยเกิดการสลายกัมมันตรังสี เนื่องจากมันอยู่โมเลกุลของไฮโดนเจน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบระบบนิเวศในทะเล ตามทฤษฎี ถ้าเกิดขึ้นจริงประเทศญี่ปุ่นคงรับเคราะห์ก่อนเพื่อน แต่ถ้ามองภาพรวมอาจกระทบเกี่ยวกับอาหารทะเลจากญี่ปุ่น พวกปลาต่างๆ ที่ส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งอาจจะลดความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศต่างๆทั่วโลกได้


แม้ตามทฤษฎีจะไม่เกิดผลกระทบก็จริง แต่อาจารย์ธรณ์ก็ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมประเทศเพื่อนบ้านต้องมาเสี่ยงกับเหตุการณ์นี้ด้วย แม้จะเป็นความเสี่ยงเพียงแค่ 0.0000001% ก็ไม่ควรเสี่ยง และคนบนโลกนี้ก็ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์กันทุกคน เป็นคุณ คุณจะยังกินปลาดิบที่มาจากทะเลญี่ปุ่นอยู่ไหม แต่ผมคงไม่กินแล้วล่ะ

 

 

สารกัมมันตรังสีทริเทียมคืออะไร อันตรายหรือไม่


สารกัมมันตรังสีทริเทียม คือ ไอโซโทปหนึ่งของไฮโดรเจนประกอบด้วยนิวตรอน 2 ตัว เป็นเชื้อเพลิงที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชั่น จากข้อมูลของคณะกรรมการควบคุมนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ทริเทียมมีความสามารถแบบเดียวกับไฮโดรเจนธรรมดา คือสามารถจับกับออกซิเจนจนกลายเป็นน้ำได้ ทำให้เกิดน้ำที่เป็นกัมมันตภาพรังสีเรียกว่า "ทริเทรต วอเตอร์" มีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับน้ำธรรมดาและทริเทียมไม่สามารถกรองออกจากน้ำได้ แม้ว่าทริเทียมจะไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังได้ แต่ก็มีการพิจารณาว่าเป็นสารที่สร้างความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง

 

 

สารทริเทียมจะทำอันตรายเฉพาะกับมนุษย์หากได้รับในปริมาณมากเท่านั้น ส่วนทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (The International Atomic Energy Agency-IAEA) แนะนำว่า ทางการญี่ปุ่นอาจต้องเจือจางน้ำปนเปื้อนกับน้ำทะเล ก่อนจะปล่อยลงสู่มหาสมุทร แต่ปริมาณน้ำปนเปื้อนที่เกิดจากระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มีจำนวนกว่า 1 ล้านตัน เพราะไม่ได้รับการระบายตั้งแต่ปี 2554

 

 

 


ข้อมูลจาก สัมภาษณ์พิเศษผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ไทยรัฐ , positioningmag

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง