รีเซต

รู้จักคลินิกสุขภาพเท้า ใส่ใจ‘จุดยืน’ของร่างกาย

รู้จักคลินิกสุขภาพเท้า ใส่ใจ‘จุดยืน’ของร่างกาย
TNN Health
5 พฤศจิกายน 2564 ( 13:12 )
186
1
รู้จักคลินิกสุขภาพเท้า ใส่ใจ‘จุดยืน’ของร่างกาย
 
คลินิกสุขภาพเท้างานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเเพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพเท้าจึงได้มีการจัดตั้งคลินิกสุขภาพเท้า และพัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของประชากรในวัยทำงานและผู้สูงอายุ และมีการพัฒนาโดยเพิ่มจำนวนนักกายอุปกรณ์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีการตรวจประเมินของทีมสหวิชาชีพ มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจประเมินการลงน้ำหนักของฝ่าเท้า เทคโนโลยี CAD-CAM ที่สามารถสแกนรูปเท้าและนำไปปรับแต่งในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาใช้ในการผลิตแผ่นเสริมรองเท้า และยังมีเทคโนโลยีการทำแผ่นเสริมรองเท้าที่ผู้เข้ารับบริการสามารถรอรับอุปกรณ์ได้ภายใน 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการปรับปรุงสถานที่การให้บริการจากเดิมที่ค่อนข้างคับแคบและไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เข้ารับบริการ
.
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเท้าเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต่อการดำเนินชีวิต เพราะเท้าจะต้องรองรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ หากมีอาการเจ็บที่บริเวณฝ่าเท้าก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ปัญหาสุขภาพเท้ามีทั้งในระดับที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเล็กน้อยไปจนถึงปัญหาสุขภาพเท้าที่อาจส่งผลให้เกิดความพิการ เช่น เท้าเบาหวาน เป็นต้น การใช้แผ่นเสริมรองเท้าในการรักษาโรคเท้าโดยเฉพาะแผ่นเสริมรองเท้าชนิดทำเฉพาะราย ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่เท้า สามารถรักษาอาการโรคเท้าต่างๆ เช่น โรครองช้ำ โรคเท้าแบนหรือเท้าผิดรูป และเท้าเบาหวาน โดยการบริการแบบเดิม ผู้ป่วยจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อมาเข้าคิวนัดทำอุปกรณ์ เนื่องจากจำนวนผู้เข้ารับบริการค่อนข้างมากทำให้จะต้องรอคิวในการทำอุปกรณ์ค่อนข้างนาน และต้องเดินทางมาที่สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง จึงจะได้รับอุปกรณ์เพราะกระบวนการผลิตแผ่นเสริมรองเท้าชนิดทำเฉพาะรายมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ใช้เวลานานในการผลิตนาน คลินิกสุขภาพเท้า จึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการ
.
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดในการปรับปรุงและพัฒนาคลินิกสุขภาพเท้าเริ่มมาจากการยึดถือความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการ ลดปัญหาในการเดินทาง ลดขั้นตอนในการบริการ ลดระยะเวลาการรอคอยเพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่รวดเร็วทันต่อการรักษาความผิดปกติของเท้าเป็นสำคัญ เปลี่ยนความคิดที่ว่าการเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐจะต้องรอนาน แออัดและได้รับอุปกรณ์ล่าช้า ไม่ได้คุณภาพ จึงนำแนวคิด“เพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากร เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีและวิธีการให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน พร้อมปรับปรุงสถานที่ให้สามารถรองรับบริการที่เพิ่มขึ้น สวยงาม สะดวกสบาย” เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วทันสมัยและได้รับมาตรฐานการบริการในระดับสากล
.
สรุปได้ว่า คลินิกสุขภาพเท้าจึงมีความโดดเด่นและแตกต่างทั้งในด้านระบบการให้บริการที่ไม่ซับซ้อน มีการให้บริการทำแผ่นเสริมรองเท้าแบบตัดเฉพาะรายตามสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการรอคอยและลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีการให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความแตกต่างหลากหลายของตัววัสดุอุปกรณ์ อีกทั้งยังสามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมในทุกโรคเท้า มีมาตราฐานการตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์และการให้บริการโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ในด้านวิชาการ มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเท้า บุคลากรทางการแพทย์ผู้สนใจ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและนักศึกษาที่ได้มาฝึกงานภาคปฏิบัติรวมถึงผู้ที่ได้เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
.
ที่มา : กรมการแพทย์

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง