รีเซต

เครือข่ายเกษตรกร เข้าขอบคุณ"จุรินทร์"ดันงบกลาง 2,000 ล้าน ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

เครือข่ายเกษตรกร เข้าขอบคุณ"จุรินทร์"ดันงบกลาง 2,000 ล้าน ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
มติชน
16 มีนาคม 2565 ( 11:01 )
35

ที่กระทรวงพาริชย์ เวลาประมาณ 09.30 น.ของวันที่ 16 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รับหนังสือแสดงความขอบคุณจากร้อยตรีวีรวัฒน์ วารีรัตน์ ประธานกลุ่มองค์กรเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนกลุ่มองค์กร ณ หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ยินดีต้อนรับพี่น้องเกษตรกรทุกท่าน ซึ่งเป็นบุคคลที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ปัญหาเกษตรกรข้อหนึ่งคือ ปัญหาหนี้สินซึ่งขณะนี้ในภาพรวมราคาพืชผลการเกษตรปัญหาน้อยลงไปมากเพราะพืชเกษตรราคาดีเกือบทุกตัว เช่น ยางพารา ยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 60 กว่าบาท น้ำยางข้นบางช่วงแตะ 70 บาท/กก.ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ที่ประมาณ 30-50 บาท/กก. ขี้ยางหรือยางก้อนถ้วย สมัยก่อน 11-14 บาท/กก. ขณะนี้ 26-27 บาท/กก. ปาล์มจาก 2 บาท/กก. ขณะนี้ 9-11 บาท/กก. บางช่วง 12 บาท/กก. ข้าวโพด 11-12 บาท/กก. มันสำปะหลัง 2.5 -2.7 บาท/กก. และข้าว ที่ความชื้นมาตรฐาน เกวียนละ 8,000-9,000 บาท และหากราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกันก็จะมีเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนเข้าร่วมรัฐบาลและเป็นเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้มีรายได้สองทางจากการขายในตลาดและเงินส่วนต่างตามรายได้ที่ประกัน โอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง

 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องหนี้สินเกษตรกรเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาเหมือนกัน กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540-41 ในยุครัฐบาลชวน 2 นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ซึ่งตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ทำให้สามารถมาแก้ไขหนี้สินให้กับเกษตรกรได้จำนวนมาก ทั้งช่วยแก้หนี้ให้กับเกษตรกรที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินมาเป็นหนี้กับกองทุนฟื้นฟูที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนกว่าและไม่ยึดที่ดิน เมื่อชำระหมดจะคืนโฉนดให้ที่ดินจะไม่มีวันถูกยึดเพราะเราไม่ต้องการให้ที่ดินของชาวนา เกษตรกรตกไปอยู่ในมือของนายทุน และยังสามารถซื้อทรัพย์ได้เช่นถูกยึดไปเป็นของสถาบันการเงินแล้วเรายังสามารถตามซื้อคืนจากสถาบันการเงินมาเป็นที่ดินของกองทุนฟื้นฟูฯและให้เจ้าของที่ดินเดิมมาผ่อนชำระ และ 2 ปีกว่าที่ตนเข้ามาเราเดินหน้าไปเยอะ อีกสักครู่จะมีการประชุม ถ้าพี่น้องเป็นหนี้สถาบันการเงินและถูกยึดที่ดิน ซึ่งปกติไปซื้อทรัพย์คืนมาได้และมาผ่อนกับกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ครั้งนี้เมื่อตกไปเป็นของสถาบันการเงินสถาบันการเงินไปขายต่อแล้ว และขายต่อเป็นทอดๆทำให้ไปซื้อทรัพย์คืนมาผ่อนกับกองทุนฟื้นฟูฯไม่ได้ วันนี้จะอนุมัติให้ทำได้

 

“ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องทั้งสิ้นและงบ 2,000 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯและตนทำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว จะเอามาใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้เป็นไปตามกฏหมายตามระเบียบตามเงื่อนไข ที่สำคัญจะต้องไม่มีการไปเรียกเงินกินเปล่าหรือดำเนินการใดๆกับเกษตรกรเด็ดขาด ถ้าตนทราบเลขากองทุนฯ มีหน้าที่ต้องดำเนินคดี เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากค่าใช้จ่ายตามระบบราชการ ถ้ามีจะจัดการ ตนได้สั่งเป็นนโยบายชัดเจนกับเลขากองทุนฟื้นฟูให้ดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ถ้าพบหรือสงสัย ถ้ามีคนร้องให้ตรวจสอบโดยด่วนและดำเนินการ เราต้องการให้ทุกอย่างโปร่งใสประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินและเป็นประโยชน์กับเกษตรกรตัวจริง ยินดีต้อนรับและดีใจที่มีโอกาสได้เจอทุกท่าน ” นายจุรินทร์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายจุรินทร์ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรครั้งที่1ของปี 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง