รีเซต

เตือน ‘เยลลี่องุ่นเคียวโฮ’ ฮิตในโซเชียลไม่มีอย. บริโภคเสี่ยงอันตราย

เตือน ‘เยลลี่องุ่นเคียวโฮ’ ฮิตในโซเชียลไม่มีอย. บริโภคเสี่ยงอันตราย
TNN ช่อง16
15 กุมภาพันธ์ 2567 ( 12:22 )
86

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า พบขนมเลียนแบบเยลลี่องุ่นที่จำหน่ายในญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งมีการรีวิวผ่านสื่อโซเชียล เป็นเยลลี่ที่บรรจุในถุงคล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งมัดเป็นลูกกลม ใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลมจิ้มถุงแตกออกแล้วรับประทานเยลลี่ที่อยู่ด้านใน เรียกกันทั่วไปว่า เยลลี่องุ่นเคียวโฮ มีหลายรสชาติ ไม่มีฉลาก และเลข อย. พบมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และวางขายใกล้โรงเรียน จึงขอเตือนว่า ไม่ควรซื้อมารับประทาน เนื่องจาก


1. อาจลักลอบนำเข้า หรือผลิตเพื่อขายในสถานที่ต่าง ๆ ไม่มีฉลาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาหาร เสี่ยงได้รับสารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สี วัตถุกันเสีย วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด


2 . ใช้ถุงมือยาง หรือภาชนะที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร จะเสี่ยงการปนเปื้อน สารเคลือบหรือวัสดุที่อาจหลุดลอกออกมาปนเปื้อนสู่อาหาร


3. อันตรายต่อเด็กเล็กอาจติดคอจากเศษของบรรจุภัณฑ์ที่หลุด ติดอยู่กับเยลลี่ หรือขนาดของเยลลี่ที่ไม่ได้มาตรฐาน

       

ทั้งนี้ กรณีผลิตเพื่อขายต่อผู้ซื้อโดยตรง ผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิต และคำแนะนำในการบริโภคแก่ผู้ซื้อได้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีฉลาก แต่หากมีการบรรจุอาหารในถุงมือยาง หรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายสถานที่ต่าง ๆ ไม่มีฉลาก มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท 


ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช) เพื่อขอความร่วมมือเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เยลลี่องุ่นเคียวโฮ ซึ่งกำลังเป็นกระแสแพร่หลายในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยที่อาจจะเกิดกับนักเรียน


รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ขนมเยลลี่ที่ได้รับอนุญาตนำเข้า/ผลิต ต้องมีฉลากภาษาไทย แสดงเลข อย. ส่วนประกอบหรือส่วนผสม ชื่อและที่ตั้ง ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า วันเดือนปีที่หมดอายุ น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ ข้อมูลวัตถุแต่งกลิ่นรส และวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น สี และวัตถุกันเสีย  กรณีเยลลี่ที่ผลิตเพื่อขายต่อผู้ซื้อโดยตรง ควรเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด มีการบรรจุในภาชนะบรรจุอาหารเท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ควรให้เด็กบริโภคขนมเยลลี่เป็นประจำ เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะอ้วน หรือฟันผุได้ควรรับประทานอาหารหลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะ รวมทั้งออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง


 หากผู้บริโภคสงสัยว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004


ข้อมูลจาก: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง