ส่อง 5 ธุรกิจสุดปัง ปีหน้ากำไร ทำแล้วไม่ตกงานแน่!
‘สุริยะ’ ชูอุตสาหกรรมดาวรุ่งปี 64 ยา-อาหารโตต่อ ชี้ภาคอุตฯ ปรับตัวให้ทันความต้องการยุคนิวนอร์มอล
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) ที่เน้นสินค้าจำเป็นมากขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มอุปโภคและบริโภค โดยผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ประมาณการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมเด่นที่ขยายตัวต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งมาจากปัจจัยด้านความต้องการในการรักษาโรค และความกังวลจากสถานการณ์โควิด-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์และอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าทั้งปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน
เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมถุงมือยางที่คาดว่า ในปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากความต้องการใช้ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ในขณะที่อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) คาดว่าทั้งปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากการสำรองสินค้าทั้งตลาดในประเทศและส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่ใช้ในครัวเรือน คาดว่าในปี 2563 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากความต้องการใช้สินค้าประเภทตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟและกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความต้องการสำรองอาหารสดไว้ที่บ้านเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการมีการลดราคาสินค้า ส่วนเครื่องซักผ้ามีการส่งออกไปตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น
ขณะที่ อุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และยางล้อ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเริ่มฟื้นตัวตามปัจจัยการฟื้นตัวของการบริโภคของภาคเอกชนหรือครัวเรือน และการจ้างงานเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติแล้ว ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มกลับมาดีขึ้น รวมถึงมาตรการภาครัฐที่มีโครงการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขยายการพัฒนาและการส่งเสริมการลงทุนมุ่งยกระดับอุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
“อุตสาหกรรมอาหารและเภสัชภัณฑ์จะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งในปี 2564 เนื่องจากสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ แต่ในภาพรวมภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการห่วงโซ่การผลิต มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยมลภาวะและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว สามารถตอบสนองต่อความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัวอยู่ทั่วโลก เพื่อรักษาฐานการผลิตที่สำคัญของโลกและพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน” นายสุริยะ กล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคและต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมและสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ปรับรูปแบบการจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงต้องตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้
1.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้การซื้อของและการทำธุรกรรมทางการเงินมาอยู่บนสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทำให้เกิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งปันโดยไม่ผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งผู้ขายสามารถขายสินค้ากับผู้ซื้อได้โดยตรง
2.ห่วงโซ่การผลิต เมื่อระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้เกือบทั้งหมด ทำให้หลายธุรกิจซึ่งเดิมกระจายขั้นตอนการผลิตไปหลายๆ ที่ทั่วโลกย้ายกลับมาผลิตในภูมิภาคมากขึ้น หรือดึงขั้นตอนการผลิตกลับไปผลิตภายในประเทศปลายทางเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่
3.สิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชากรโลก โดยคาดว่าในอนาคตน้ำสะอาดจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของประชากรโลก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานในการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น
4.แรงงาน จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในอนาคตอีก 15-20 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยกำลังเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและคนวัยทำงานน้อยลง ส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนไปทำให้การทำธุรกิจในรูปแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากอาจไม่เหมาะสม ภาคธุรกิจจึงต้องปรับรูปแบบการผลิตจากการเน้นความได้เปรียบจากต้นทุนค่าแรงหรือใช้แรงงานจำนวนมากเปลี่ยนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม