รีเซต

เรามาแน่ แม้คุณไม่เลือก ! ทั่วโลกเข็นรถบรรทุกไฟฟ้าเข้าประจำการ

เรามาแน่ แม้คุณไม่เลือก ! ทั่วโลกเข็นรถบรรทุกไฟฟ้าเข้าประจำการ
TNN ช่อง16
22 สิงหาคม 2565 ( 17:34 )
137
เรามาแน่ แม้คุณไม่เลือก ! ทั่วโลกเข็นรถบรรทุกไฟฟ้าเข้าประจำการ

ปัจจุบันนี้ กระแสรักษ์โลกกำลังมาแรง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า EV ได้รับความนิยมมหาศาล ตอบโจทย์ทั้งการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ประหยัดพลังงาน และช่วยลดมลพิษ เข้ากับกระแสภาพรวมของโลกยุคปัจจุบัน

เช่นเดียวกับการใช้รถในสหรัฐอเมริกา และยุโรป และจีน โดยเฉพาะรถบรรทุกไฟฟ้า ที่กำลังมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ว่ากันว่าเหล่ารถบรรทุกหนักที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้านี้ จะกลายเป็นอนาคตของการขนส่งในภาคธุรกิจ ด้วยปัจจัยความคุ้มค่าที่เหนือกว่าเครื่องยนต์สันดาป และอีกหลากหลายข้อดี

ในการสำรวจของแซมซารา (Samsara Inc.) บริษัท IoT (Internet of Things) สัญชาติอเมริกัน เผยว่า บริษัทขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมกว่า 90% ระบุว่า รถไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทธุรกิจยานพาหนะมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2023 จำนวนรุ่นรถบรรทุกไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นถึง 195 รุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2019 

สำหรับการที่บริษัทต่าง ๆ นำรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้ จะขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ แรงจูงใจภายในและแรงจูงใจภายนอก 

แรงจูงใจภายใน

แรงจูงใจภายในที่ใหญ่ที่สุดสำหรับรถบรรทุกไฟฟ้า คือ “เงิน” โดยการจะรักษาสถานะธุรกิจที่แข็งแกร่ง และยั่งยืนได้ จะต้องพิจารณาจากความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายหลักออกไป เช่น การลดต้นทุนเชื้อเพลิง, การลดต้นทุนการบำรุงรักษา และการลดต้นทุนการดำเนินงานโดยรวม 

อาร์ค (ARC) บริษัทที่ปรึกษาด้านความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เผยว่า ในการสำรวจตลาดหลัก 3 แห่งที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุด ซึ่งได้แก่ ยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา พบว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรต่ำกว่าเมื่อเทียบกับรถบรรทุกทั่วไปที่ใช้น้ำมัน 


ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาชุดแบตเตอรี่ลดลงมาอยู่ที่ราว 122 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4,300 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ลดลง 95% จากเหตุผลเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่ตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าจะเริ่มมีความคึกคักอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ที่มาของรูปภาพ Volvo

แรงจูงใจภายนอก

ส่วนแรงจูงใจภายนอกที่ทำให้การนำรถ EV มาใช้ในภาคธุรกิจขนส่งเกิดขึ้น คือนโยบายส่งเสริม และกฎหมายควบคุมอัตราการปล่อยมลพิษของทางการ 


สำหรับมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนที่โดดเด่น ขอยกตัวอย่างในเคสของสหรัฐฯ เช่น ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับพลังงานสะอาด หรือ California ACT ของคณะกรรมการทรัพยากรอากาศแคลิฟอร์เนีย (California Air Resources Board) ซึ่งก่อตั้งมาเพื่อพยายามลดสิ่งก่อมลพิษ ปกป้องสุขภาพของประชาชน และเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง  โดยหมวดหนึ่งของตัวกฎหมายนี้จะกำหนดให้บริษัทขนส่งขนาดใหญ่ ต้องมีรถบรรทุกไฟฟ้าอย่างน้อย 100 คันขึ้นไป 


ด้านสหภาพยุโรป มีกฎหมายระบุว่า ตั้งแต่ปี 2025 ผู้ผลิตจะต้องมีมาตรการด้านคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มงวดมากขึ้น และภายในปี 2039 ผู้ผลิตรถบรรทุก จะขายเฉพาะรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ส่วนผู้ผลิตรถบรรทุกรายใหญ่รายอื่น ๆ ทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า ก็กำลังเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ นำเสนอการวิจัย ที่ระบุว่า ภายในปี 2030 การซื้อรถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามาใช้ จะมีค่าใช้จ่ายลดลงกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับรถบรรทุกทั่วไปบนท้องถนนที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล 


ที่มาของรูปภาพ Hyundai

ทั้งยังมีนโยบายโครงการ SuperTruck 3 จากสำนักงานโครงการเงินกู้ กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่มีงบประมาณราว 127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4.4 พันล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาในการยกระดับความสามารถรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดใหญ่ของบริษัทเอกชน รวมถึงงบประมาณจากการพัฒนากฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 267,056,250,000 บาท ที่พึ่งผ่านการรับรองเมื่อปีที่แล้ว ก็จะช่วยสนับสนุนให้มีการสร้างสถานีชาร์จและเติมพลังงานในทั่วประเทศ

จากนโยบายเหล่านี้ยิ่งช่วยส่งเสริมให้บริษัทผู้ผลิตรถบรรทุกไฟฟ้า และรถบรรทุกที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำรายใหญ่ เช่น Daimler, Ford, Navistar, กำลังเร่งเปิดตัวรถไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ เช่นรถตู้พลังงานไฟฟ้า รถบรรทุกพ่วง รถกึ่งพ่วงระยะไกล ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทำไมต้องรถบรรทุกไฟฟ้า

คนส่วนใหญ่กำลังมีความเห็นพ้องกันว่า ต้องเปลี่ยนโครงข่ายระบบขนส่งให้เป็นไฟฟ้าและปราศจากคาร์บอน และต้องจัดการยานพาหนะที่ก่อมลพิษอย่างเด็ดขาด 

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียของการขนส่งสินค้าทางถนนทั่วโลกอยู่ที่ 2.9 กิกะตันต่อปี และยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากมลพิษของเครื่องยนต์ดีเซลมีมากกว่า 180,000 รายต่อปี

ตัวเลขที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ขณะที่รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่มีอัตราส่วนอยู่ที่ 6% ของยานพาหนะบนท้องถนนในสหรัฐฯ แต่ทว่ากลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนถึง 29% ของระบบขนส่งทั้งหมด  ด้วยเหตุนี้ กฎหมายที่กำหนดให้รถบรรทุกปรับมาใช้เป็นรถไฟฟ้าจึงเริ่มมีมากขึ้นในสหรัฐฯ และบรรดาประเทศที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีรถไฟฟ้า

ทั่วโลกขานรับกระแสรถบรรทุกไฟฟ้า


สำหรับในยุโรป รถโดยสาร รถขนขยะ รถตู้ส่งของ และรถบรรทุกในเหมือง ถูกเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแล้วประมาณ 1 ใน 3 ของการใช้เชื้อเพลิงในกลุ่มกิจการธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งตามข้อบังคับกฎหมายยุโรป น้ำหนักตัวรถเปล่าของรถบรรทุกดีเซลถูกจำกัดอยู่ที่ 1 ใน 3 ของน้ำหนักบรรทุกสูงสุดของรถ


ขณะที่การขนส่งสินค้าในยุโรป ราว 50-60% มีระยะทางขนส่งน้อยกว่า 500 กิโลเมตร ผู้ให้บริการขนส่งที่ใช้รถบรรทุกไฟฟ้า จะเพิ่มน้ำหนักบรรทุกได้อีกประมาณ 15% ที่มีระยะทำการน้อยกว่า 500 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมของเหล่าบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า


สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรป (ACEA) คาดว่า ภายในปี 2030 จะมีรถบรรทุกไฟฟ้า 200,000 คันโลดแล่นอยู่บนท้องถนน หรือประมาณ 4% ของจำนวนยานพาหนะทั้งหมด  


ขณะที่ประเทศจีนเองก็มีบทบาทเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการใช้รถบรรทุกไฟฟ้า โดยบริษัท BYD บริษัทเทคโนโลยียานยนต์ชื่อดังจากจีน ได้เปลี่ยนรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาป 15,000 คันที่ใช้ในมหานครเซินเจิ้นเป็นรถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็กและรถตู้ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 60,000 คัน

จากแนวโน้ม และตัวเลขเหล่านี้ บ่งบอกได้ว่า ทิศทางและกระแสการใช้รถบรรทุกไฟฟ้ากำลังกระจายไปในทั่วทุกทวีป และไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่แม้จะยังไม่มีนโยบายที่ออกมาเพื่อสนับสนุนรถบรรทุกไฟฟ้าโดยเฉพาะ แต่ก็มีการเคลื่อนไหวจากภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 บริษัทซีพี โฟตอน (CP FOTON) ได้เปิดตัวรถเพื่อการพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า 100% พร้อมกัน 5 รุ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกของเมืองไทยที่นำรถเพื่อการพาณิชย์พลังงานไฟฟ้าเข้ามาเปิดตัว และทำการตลาดอย่างเป็นทางการ

และปัจจุบัน ซีพี โฟตอนกำลังนำรถเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเต็มตัว พร้อมกับเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงและจัดจำหน่าย 25 แห่งทั่วประเทศแล้ว



ที่มาของรูปภาพ FOTON

จุดอ่อนของรถไฟฟ้าที่ต้องแก้ไข

อย่างไรก็ตาม คาดว่ารถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ และรถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง จะเข้ามาครอบครองตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลางในระยะอันใกล้ แต่ไม่ใช่รถบรรทุกทุกประเภท ที่จะพร้อมเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้าในทันที 

โดยรถบรรทุกขนาดใหญ่ในงานอุตสาหกรรม จะเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ยากที่สุด โดยรถบรรทุกหนักเหล่านี้ จะยังคงเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลและก๊าซธรรมชาติอยู่

แต่เชื่อได้ว่าคงไม่นานเกินรอที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่จะถูกพัฒนาจนถึงขีดสุด จนสามารถใช้งานได้ในรถบรรทุกหนัก โดยเบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 รถบรรทุกเกือบทุกคันจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และเป็นไปได้ที่อนาคตอันใกล้ เราอาจจะมีเมืองต้นแบบ ที่เป็นเมืองรถไฟฟ้า 100%  เพื่อชะลอสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับคนทั้งโลก


ที่มาของข้อมูล

blog.fleetcomplete.com

weforum.org

intelligence.weforum.org

theconversation.com/

theconversation.com

forbes.com

canarymedia.com

opb.org

vox.com


ที่มาของรูปภาพ

Volvo, FOTON, Hyundai

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง