รีเซต

เตือน 4 จุดบอด "รถบรรทุก หรือ รถขนาดใหญ่" เพื่อความปลอดภัย

เตือน 4 จุดบอด "รถบรรทุก หรือ รถขนาดใหญ่" เพื่อความปลอดภัย
TNN ช่อง16
26 เมษายน 2567 ( 19:13 )
37
เตือน 4 จุดบอด "รถบรรทุก หรือ รถขนาดใหญ่" เพื่อความปลอดภัย

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ประชาชนนิยมใช้ในการเดินทางเพราะมีความสะดวกและคล่องตัว แต่ก็มีความเสี่ยงและโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ง่าย โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 (11–17 เมษายน 2567) ที่ผ่านมาพบว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด 84.90 % และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือการไม่สวมหมวกนิรภัย และคู่กรณีส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่ 


ซึ่งทำให้มีโอกาสสูงที่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะได้รับบาดเจ็บสาหัสหรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิต กรมการขนส่งทางบกตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ 


โดยได้กำหนดให้รถบรรทุกต้องติดตั้งอุปกรณ์ด้านข้าง (LPD) และด้านท้าย (RUPD) เพื่อป้องกันรถที่มีขนาดเล็กหรือรถจักรยานยนต์ล้มเข้าใต้รถบรรทุก หรือชนท้ายรถบรรทุก อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในจุดบอดของรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่ 


ทั้งนี้ จุดบอดของรถบรรทุกหรือรถขนาดใหญ่มี 4 จุด ได้แก่ 


ด้านหน้า เนื่องจากความสูงของตัวรถ ทำให้บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น ดังนั้นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ควรขับขี่รถอยู่พื้นที่ด้านหน้าในระยะประชิด 


ด้านขวา ผู้ขับรถบรรทุกจะเห็นรถคันอื่นก็ต่อเมื่ออยู่ในรัศมีของกระจกมองข้าง หากรถบรรทุกต้องการเลี้ยวเปลี่ยนช่องทางอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ 


ด้านหลัง ผู้ขับรถบรรทุกไม่สามารถมองเห็นด้านหลังของรถบรรทุกจากกระจกมองหลังได้ควรเว้นระยะปลอดภัยเผื่อการเบรกกะทันหันและการถอยหลังของรถบรรทุก 


ด้านซ้าย ของรถบรรทุก ซึ่งเป็นพื้นที่อันตรายที่สุด เนื่องจากเป็นจุดที่มีทัศนวิสัยแคบที่สุด ผู้ขับรถบรรทุกสังเกตเห็นรถคันอื่นได้ยากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จึงควรหลีกเลี่ยงขับขี่รถเข้าไปใกล้พื้นที่จุดบอดของรถบรรทุกในทุกกรณีเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ


กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุในกลุ่มรถจักรยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ ไม่ใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อน เนื่องจากหมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ช่วยลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุของการบาดเจ็บที่ศีรษะและสมอง ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ขับขี่ แนะนำให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัยที่มีคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รวมทั้งต้องหมั่นตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานอยู่เสมอเพื่อลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยต่อตัวผู้ขับขี่เองและผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง