รีเซต

ฮือฮา! เจ้าของเพลงดัง “ฉันทนาที่รัก-รักข้ามคลอง” ผันตัวขายลาบ-ก้อย สู้โควิด

ฮือฮา! เจ้าของเพลงดัง “ฉันทนาที่รัก-รักข้ามคลอง” ผันตัวขายลาบ-ก้อย สู้โควิด
TNN ช่อง16
24 ธันวาคม 2564 ( 13:13 )
128

วันนี้ ( 24 ธ.ค. 64 )ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีพ่อค้าขายลาบก้อยรายหนึ่ง ที่ตลาดสดเทศบาลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทั้งลาบก้อยไปด้วยและร้องเพลงไปด้วย  สร้างความสนุกสนาน คลายเครียด ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่แผงใกล้กัน รวมทั้งประชาชนที่เข้ามาเลือกซื้ออาหาร ต้องหยุดฟังเพลงด้วยความสนใจ หลายคนกระซิบกระซาบกันว่าบุคลิกและน้ำเสียง เหมือนนักร้องมืออาชีพ โดยสุ้มเสียงของพ่อค้าขายลาบก้อยรายนี้ฟังออดอ้อน หวานหยดย้อย ซึ่งเพลงที่เขานำมาร้องนั้นเป็นเพลงลุกทุ่งยุคเก่า ที่หาฟังยาก แต่เมื่อได้ยินแล้วประทับใจ จนอดใจไม่ได้ที่จะหยุดฟังและขอเพลงขณะยืนรอเมนูลาบก้อย  ถือเป็นรูปแบบการขายและวิธีการเรียกลูกค้าอีกแบบหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปสังเกตการณ์  พบชายคนดังกล่าว ตั้งแผงขายอาหารอีสานประเภทลาบ ก้อย และต้มเนื้อวัว ที่ตลาดสดเทศบาลตำบลกมลาไสย หรือตลาดเย็น บริเวณมุมทางออก 4 แยกไฟแดง ซึ่งมีลูกค้ายืนรอและรับฟังเพลงที่เขาร้องคลอไปด้วยขณะทำการปรุงอาหารให้กับลูกค้าที่ยืนรอ โดยเพลงที่เขานำมาขับร้องขณะประกอบการปรุงอาหารนั้น เป็นบทเพลงลูกทุ่ง ที่เคยโด่งดังมากในยุค 80 หรือราวปี  2520-2530 เช่นเพลง “ฉันทนาที่รัก” “รักข้ามคลอง”  “ฉันทนาใจดำ” “สุขเถิดบัวคำ” ซึ่งรูปร่างหน้าตา โดยเฉพาะเสียงที่เขาขับขานออกมานั้น เหมือนอดีตนักร้องดังชื่อ “รักชาติ ศิริชัย” มาก

จากการสอบถามพ่อค้าขายลาบก้อย ยืนยันว่าตนคือ  “รักชาติ ศิริชัย” ตัวจริง เสียงจริง ปัจจุบัน อายุ 66 ปี สาเหตุที่มาตั้งแผงขายลาบก้อยที่นี่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้งานร้องเพลงที่เคยเป็นอาชีพหลักต้องหยุดไป 

โดยรักชาติ กล่าวว่า หลังจากยุคเพลงลูกทุ่งลดความนิยมลง ตนก็ยังรับงานอยู่ เช่น ตามร้านอาหาร งานมงคล งานสังคมต่างๆ พอเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบกับคนในวงการบันเทิง และร้านค้าร้านอาหารที่เคยไปรับงานร้องเพลง ตนได้เปิดร้านขายอาหารตามสั่งหลายแห่ง ล่าสุดที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไปไม่รอด พอดีมีคนที่รู้จักรักใคร่กันดี ชักชวนมาทำธุรกิจขายปุ๋ยและพันธุ์ข้าว ที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จึงใช้เวลาว่างมาขายลาบก้อยที่นี่ โดยมีภรรยาและลูกชายช่วยกันขาย โดยเช้าช่วงเวลา 06.00-08.00 น.จะขายที่หน้าบ้าน ต.หลักเมือง อ.กมลาไสย ตอนเย็นมาขายที่แผงตลาดสดเทศบาลตำบลกมลาไสย ปรากฏว่าได้รับการอุดหนุนจากลูกค้าค่อนข้างดี ก็ต้องขอกราบขอบคุณลูกค้า และมิตรรักแฟนเพลงเป็นอย่างมากที่จำกันได้ และมาช่วยอุดหนุนลาบก้อย ในอนาคตหากบรรยากาศการค้าขายดีขึ้น อาจจะเปิดร้านชื่อ “รักชาติลาบก้อย” และสำหรับการร้องเพลง ซึ่งเป็นอาชีพที่ตนรัก ก็ยังอยากจะร้องอยู่ หากเจ้าภาพท่านใดมีงาน อยากได้รักชาติ ศิริชัย ตัวจริง เสียงจริง ไปขับกล่อมในงาน ก็สามารถมาติดต่อได้ ราคาเป็นกันเอง

ทั้งนี้ รักชาติ ศิริชัย ชื่อจริงนายบุญช่วย จิวิสาย บ้านเดิมบ้านหนองมะเขือ ต.โคกสำราญ อ.บ้านแฮด (เดิม อ.บ้านไผ่) จ.ขอนแก่น เริ่มจับไมค์ร้องเพลงครั้งแรกในงานแต่งงานงานหนึ่ง จากนั้นก็ตะเวนประกวดร้องเพลงในพื้นที่ใกล้เคียง และก็ชนะเป็นส่วนใหญ่ ช่วงหลังๆจึงมักได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประกวดจากกองประกวด จึงไปสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรี "จุฬาภรณ์" ที่ จ.มหาสารคาม แต่วงอยู่ได้แค่ 2 เดือนก็หยุด 

ต่อมาด้วยความช่วยเหลือของคนในวงการ รักชาติได้มีโอกาสบันทึกเสียงเพลงแรกในชีวิต เป็นเพลงของครูชลธี ธารทอง ชื่อ "จดหมายฉบับสุดท้าย" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเดินทางกลับบ้านและบวช 1 พรรษา ระหว่างนั้นมีเพื่อนมาพูดคุยเรื่องการเป็นนักร้องที่กรุงเทพฯ หลังจากลาสิขาออกมาจึงตัดสินใจลงไปกรุงเทพ หวังจะไปสมัครเป็นนักร้องกับวง “รุ่งเพชร แหลมสิงห์” ที่เขายึดเป็นนักร้องต้นแบบ แต่ปรากฏว่าเมื่อเดินทางถึงเห็นมีการประกาศขายรถบัสเดินสายของวง "รุ่งเพชร" ทำเอารักชาติรู้สึกผิดหวัง และคิดหาหนทางใหม่

ในที่สุดรักชาติก็ไปอยู่กับวงดนตรี “ศรีไพร ลูกราชบุรี” จึงมีโอกาสได้ร้องเพลงหน้าเวทีบ้าง ต่อมาเมื่อวงมาเดินสายอยู่แถวภาคเหนือ รักชาติได้ไปพบสุชาติ เทียนทอง นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังในยุคนั้น เพื่อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ซึ่งสุชาติก็รับเขาและแต่งเพลงให้ร้องหลายเพลง นอกจากนี้ยังพารักชาติเข้าห้องอัดเสียงด้วย 

รักชาติร้องเพลงของสุชาติหลายเพลง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนมาถึงเพลงที่ 8 เพลงสุดท้ายที่ตกลงกับสุชาติว่า ถ้าไม่ประสบความสำเร็จอีกก็คงต้องล้มเลิกการผลักดัน และเพลงสุดท้ายที่ทำให้รักชาติโด่งดังเป็นพลุแตก คือเพลง "ฉันทนาที่รัก" ซึ่งเป็นเพลงยุคแรกๆที่กล่าวถึงชีวิตของสาวโรงงาน จากความสำเร็จของเพลง "ฉันทนาที่รัก" รักชาติ ยิ่งทวีความดังมากขึ้นไปอีกจากผลงานเพลงสุดฮิต อย่าง "รักข้ามคลอง" "ฉันทนาใจดำ" และ “สุขเถิดบัวคำ” ความดังของเพลงฉันทนาที่รัก ทำให้คำว่า “ฉันทนา” ถูกใช้แทนความหมายของเหล่าบรรดาสาวโรงงานจนถึงปัจจุบัน




ข้อมูลจาก :  ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจ.กาฬสินธุ์

ภาพจาก :  ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจ.กาฬสินธุ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง