ลดอุบัติเหตุเป็นศูนย์ ลดจำนวนผู้สูญเสีย
อุบัติเหตุ คือ เหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หลายต่อหลายครั้งที่อุบัติเหตุเกิดขึ้น ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากความประมาท สำหรับคนทั่วไป อุบัติเหตุหนึ่งครั้ง อาจจบที่การชดเชยค่าเสียหาย การรักษาพยาบาล หรือการรับโทษตามกฎหมายของผู้กระทำความผิด แต่สำหรับผู้สูญเสียหรือผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อนั้น เรื่องราวไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ เพราะสำหรับพวกเขานั้นอาจหมายถึง การสูญเสียเสาหลักของครอบครัว เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ การต่อสู้กับการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งกว่าจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด และถึงแม้ว่าความเจ็บปวดทางกายจะหายไป แต่ความเจ็บปวดทางใจก็ยังคงอยู่เสมอ และอาจจะคงอยู่ไปตลอดชีวิต เปรียบเสมือนบาดแผลที่ไม่มีใครมองเห็น
องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เพื่อจัดกิจกรรม สร้างการรับรู้ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วยความไม่ประมาท และรับผิดชอบต่อทุกชีวิต เพื่อลดจำนวนผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนาเนื่องในโอกาส วันโลกรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (วันเหยื่อโลก) The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) ในหัวข้อ “การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและสุขภาพจิตของเหยื่ออุบัติเหตุ” เพื่อร่วมรำลึกถึงผู้สูญเสีย รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันตระหนักถึงความรุนแรง และความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ด้วยข้อปฏิบัติง่าย ๆ 3 ข้อ คือ ดื่มไม่ขับ ปฏิบัติตามกฎ ลดความเร็ว รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เพิกเฉยต่อความทุกข์ร้อนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ เร่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ให้ทุกคนได้เข้าถึงความยุติธรรม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจด้วย
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จากระบบบูรณาการข้อมูล 3 ฐาน กรมควบคุมโรค พบว่า ผู้เสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ.2554-2563 เฉลี่ยปีละกว่า 20,000 คน และแนวโน้มการเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเกิดในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และ 74% ของผู้เสียชีวิต คือ คนใช้รถจักรยานยนต์ ข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เดือน ม.ค.-มิ.ย.64 พบผู้บาดเจ็บ 431,474 คน ซึ่ง 30% ของผู้บาดเจ็บนี้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล และในจำนวนนี้ อาจจะต้องกลายเป็นผู้พิการรายใหม่เพิ่มขึ้น
น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. พยายามที่จะขับเคลื่อน หนุนเสริม และผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ต่อการเกิดอุบัติเหตุ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้ความเร็ว ดื่มไม่ขับ หรือการใช้อุปกรณ์นิรภัยที่ช่วยเซฟชีวิต การเคารพและปฏิบัติตามกฏจราจร รวมทั้งการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนด้วย
“การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน หลายคนกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ก่อเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสภาพจิตใจผู้สูญเสียที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม การไม่ได้รับความเป็นธรรม ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันอย่างจริงจัง อย่าให้มีเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนนต้องถูกกระทำซ้ำอีก” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว
นายไอ คงสุข นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น โครงการกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เล่าว่า ลูกชายของตน เสียชีวิตเมื่อปี 2561 จากการขี่มอเตอร์ไซค์ไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ซึ่งห่างจากบ้านเพียง 500 เมตร โดยไม่สวมหมวกกันน็อก แล้วเกิดอุบัติเหตุชนจักรยาน เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย หลังจากที่ตนซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูกได้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ เกิดความรู้สึกผิดที่ตนเป็นคนซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ลูก แต่โชคดีมีจังหวะได้ร่วมงานกับ สสส. และเครือข่ายต่าง ๆ จนวันหนึ่งได้เจอเคสอุบัติเหตุเคสหนึ่งซึ่งเกิดกับเยาวชนเช่นเดียวกับที่เคยเกิดกับลูกของตน จึงรู้สึกสะเทือนใจ และเกิดความรู้สึกว่า อยากทุ่มเททำงานด้านนี้ให้เต็มที่ เพื่อช่วยไม่ให้เกิดเหตุการณ์การสูญเสียเช่นนี้กับใครอีก
นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อทุกคน ทุกฝ่าย สิ่งที่จะสามารถเยียวยาได้ คือกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้
1.ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ทำคดีอย่างโปร่งใสให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเท่าเทียม
2.หน่วยงานสภาทนายความ องค์กรสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแล เพราะบางครั้งประชาชนไม่รู้กฎหมาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ไม่รับผิดชอบ จึงอยากให้ทางตำรวจและภาครัฐลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อความเป็นธรรมของเหยื่อที่ต้องสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน
ขณะที่ นายคงศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น เน้นการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถสาธารณะ ซึ่งตลอดเวลาที่ทำงานมา ก็พบว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นของผู้ประสบเหตุนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก และล่าช้า รวมทั้งผู้ประสบเหตุถูกเอารัดเอาเปรียบ จากการขาดความรู้ ความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน จึงเป็นเรื่องที่สมควรต้องร่วมคิดร่วมทำและดำเนินการทันที เพื่อคืนสิทธิความเป็นมนุษย์และความเป็นธรรมให้กับเหยื่อทุกคน
อย่าปล่อยให้สถิติตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นเรื่องชินชา เพราะหนึ่งตัวเลขที่เกิดขึ้นนั้นหมายถึงหนึ่งชีวิต หนึ่งคนสำคัญ ผู้ซึ่งเป็นพลังกาย พลังใจของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
สสส. ขอร่วมรำลึกถึงทุกชีวิตที่สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ขอส่งกำลังใจ และความห่วงใยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่าน มาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ใช้รถใช้ถนนด้วยความไม่ประมาท ดื่มไม่ขับ ปฏิบัติตามกฎ ลดความเร็ว เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติทางถนน
ข้อมูล : สสส
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<