เผย 4 อาการ เป็นสัญญาณโรคลมร้อน เสี่ยงหมดสติ!
วันนี้ ( 7 เม.ย. 65 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อนขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่มีภาวะอ้วนรวมถึงผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำน้อย ออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัดใส่เสื้อผ้าหนาและปกปิดร่างกายมิดชิดเกินไป รวมถึงพักผ่อนน้อย ต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง เพื่อลดความเสี่ยง จากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) เนื่องจากเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ โดย 4 อาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่
1. เหงื่อไม่ออก
2.สับสน มึนงง
3. ผิวหนังเป็นสีแดงแห้ง
4.ตัวร้อนจัด
ในกรณีที่พบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวให้โทร 1669 และควรทำกาปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถ หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็นใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป้าหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนสิ้นอุดทางเดินหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วด้วยรถปรับอากาศ หรือเปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเท
“ทั้งนี้ ในช่วงที่อากาศร้อนควรอยู่ในอาคาร บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศสวมเสื้อผ้าสีอ่อน หลวม มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายประมาณ 10-12 แก้วต่อวัน หลีกเสี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง อาบน้ำบ่อย ๆ ไม่เปิดพัดลมแบบจ่อตัวเพราะพัดลมจะดูดความร้อนเข้ามาหาตัว ควรเปิดพัดลมแบบส่าย และเปิดหน้าต่างระบายอากาศ หากมีอาการที่เกี่ยวข้องกับความร้อนควรรีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดทันที รวมถึงหลีกเลี่ยง การทำกิจกรรมกลางแจ้ง
หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรป้องกันตนเองด้วยการสวมหมวกปีกกว้าง สวมแว่นกันแดด กางร่ม และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป รวมถึงติดตามข่าวสาร พยากรณ์อากาศ และอุณหภูมิสูงสุดรายวันจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ข้อมูลจาก : กรมอนามัย
ภาพจาก : AFP