Rocket Lab เปิดตัวจรวดขนส่งอวกาศ Neutron รุ่นใหม่ล่าสุด
บริษัท Rocket Lab เปิดตัวจรวดขนส่งอวกาศ Neutron จรวดรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัทเพื่อทำภารกิจขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ต่อยอดความสำเร็จจากจรวด Electron ของบริษัท สำหรับจรวด Neutron บริษัทวางแผนให้เป็นจรวดแห่งโลกอนาคตปี 2050 เพื่อรองรับการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ขับเคลื่อนด้วยบริษัทเอกชนจากประเทศต่าง ๆ อวกาศพรมแดนใหม่ที่จะมีมูลค่ามหาศาลในอนาคตอันใกล้
ปัญหาในการส่งจรวดขนส่งอวกาศในอดีต คือ ต้นทุนการส่งจรวดที่มีราคาสูง จรวดมีน้ำหนักจากโครงสร้างที่เป็นเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless steel) นำไปสู่การบรรทุกเชื้อเพลิงเหลวเพิ่มมากขึ้น จรวดขนส่งอวกาศ Neutron นำเสนอวิธีการใหม่จรวดน้ำหนักเบาและใช้งานซ้ำลดต้นทุนการขนส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศทั้งในภารกิจขนส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศ
จรวด Neutron โครงสร้างใช้วัสดุคาร์บอนคอมโพสิต (Carbon composites) มีน้ำหนักเบาแต่มีความยืดหยุ่นทนทาน ความสูงของจรวด 40 เมตร กว้าง 5 เมตร จรวดถูกออกแบบให้สามารถเดินทางกลับโลกหลังจากทำภารกิจสำเร็จเพื่อเติมเชื้อเพลิงและใช้งานในภารกิจถัดไป จรวดมีขีดความสามารถในการขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศน้ำหนักประมาณ 8 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit) และน้ำหนัก 1.5 ตัน สำหรับภารกิจระดับวงโคจรของดาวอังคารและดาวศุกร์
การทำงานของจรวดแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน จรวดขั้นตอนแรก (First stage) ทำหน้าที่ผลักดันจรวดขึ้นจากฐานปล่อยบนพื้นโลกโดยใช้เครื่องยนต์จรวด Archimedes จำนวน 7 เครื่องยนต์ เชื้อเพลิงออกซิเจนเหลว (LOX) และมีเทน (Methane) จรวดขั้นตอนที่สอง (Second stage) ทำหน้าที่บรรทุกดาวเทียมหรือยานอวกาศด้านบนสุดของจรวดขั้นตอนที่สองฝาครอบสามารถเปิดปิดได้ในระหว่างทำภารกิจ จรวดในขั้นตอนที่สองใช้เครื่องยนต์จรวด Vacuum Archimedes จำนวน 1 เครื่องยนต์
ก่อนหน้านี้บริษัทเปิดตัวแผนการพัฒนาจรว Neutron ในช่วงเดือนมีนาคมปี 2020 และเปิดตัวดีไซน์จรวด Neutron อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันจรวด Neutron อยู่ในช่วงของการวิจัยพัฒนาและเตรียมทดสอบส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกในช่วงปี 2024 บริเวณฐานปล่อยจรวด Mid-Atlantic Regional Spaceport (MARS) รัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แนวโน้มของเทคโนโลยีขนส่งอวกาศในอนาคตอันใกล้จะมีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีจากบริษัทเอกชนเพิ่มมากขึ้น อวกาศพรมแดนใหม่ที่รอการสำรวจและการค้นพบด้านวิทยาศาสตร์ แหล่งทรัพยากร
ข้อมูลจาก techcrunch.com
ภาพจาก rocketlabusa.com