รีเซต

ไขอาการ "หลอดเลือดช่องท้องโป่งพอง" โรคอันตราย รักษาช้าอาจเสียชีวิต

ไขอาการ "หลอดเลือดช่องท้องโป่งพอง" โรคอันตราย รักษาช้าอาจเสียชีวิต
TNN ช่อง16
26 มีนาคม 2564 ( 13:08 )
198

จากกรณีที่พบผู้ป่วยเส้นเลือดในท้องโป่งพองแตกและเสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด โดยแพทย์คาดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน เนื่องจากว่าผู้ป่วยรายนี้ป่วยโรคเส้นเลือดโป่งพองในท้องอยู่ระหว่างรับการรักษา ซึ่งโรคนี้มีโอกาสที่เส้นเลือดจะแตกได้ตลอดเวลานั้น

ผศ. พญ.ปิยนุช พูตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดช่องท้องโป่งพอง ผ่านช่องทางของ RAMA CHANNEL ระบุว่า โรคหลอดเลือดในช่องท้องโป่งพอง เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลาที่เหมาะสม หรือผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าตกอยู่ในภาวะโรคดังกล่าวจนทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นที่หลอดเลือดแตกและเสียชีวิตในที่สุด ขณะที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูนักกับโรคนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ควรทำการศึกษารายละเอียดร่วมกัน นำไปสู่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่เหมาะสม

หลอดเลือดแดงใหญ่มีหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยเริ่มตั้งแต่รับเลือดดีออกจากหัวใจไหลผ่านลงมาทางหน้าอก กระบังลม และส่งต่อไปยังช่องท้อง แล้วจึงแยกออกเป็นสองสายเพื่อไปเลี้ยงขาทั้งสองข้าง และไปเลี้ยงที่อวัยวะอุ้งเชิงกราน ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงนี้ ก็จะทำให้เลือดรั่วไหลออกมาหมดไม่สามารถเดินทางไปถึงอวัยวะต่างๆ ได้ ส่งผลให้เสียชีวิตลงในที่สุด

โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง เกิดขึ้นจากความเสื่อมของหลอดเลือดแดง โดยในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่สูบบุหรี่เรื้อรังหรือผู้ที่เคยสูบบุหรี่ จากผลสำรวจยังพบว่าในผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

อาการของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้องพบว่าส่วนมากคนไข้จะไม่มีอาการ แต่มักมาพบแพทย์ด้วยเรื่องคลำเจอก้อนเต้นได้ในช่องท้อง ซึ่งแพทย์ก็จะทำการส่งตรวจทำอัลตร้าซาวด์หลอดเลือด และพบว่าหลอดเลือดแดงมีลักษณะที่โป่งพอง ในผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง หรือปวดท้องร้าวไปถึงหลังร่วมด้วย กรณีนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลอดเลือดนี้กำลังจะแตก หากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้หลอดเลือดแตกและเสียชีวิตในที่สุด

การตรวจเพื่อรักษา แพทย์จะทำการซักประวัติในเรื่องของการคลำเจอก้อนเต้นได้ที่ท้องว่ามีหรือไม่อย่างไร หากมีจะทำการตรวจอัลตร้าซาวด์หลอดเลือดหรือส่งภาพเอกซเรย์ดูว่าหลอดเลือดมีขนาดใหญ่ผิดปกติหรือไม่ โดยโรคดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบว่าหลอดเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 5.5 เซนติเมตร แพทย์จะทำการผ่าตัด

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยยังมีขนาดหลอดเลือดใหญ่ขึ้นไม่ถึง 5.5 เซนติเมตรและพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ควบคุมไขมันในเลือด เลิกสูบบุหรี่ และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีหลอดเลือดใหญ่ขึ้นถึง 5.5 เซนติเมตรจะต้องได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลให้เกิดอาการหลอดเลือดแตกและเสียชีวิตได้ในที่สุด

การผ่าตัดมี 2 วิธี ได้แก่

1. การผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง หรือที่เรียกว่าผ่าตัดใหญ่

เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐาน แพทย์ต้องวางยาสลบ และทำการเปิดแผลใหญ่ตั้งแต่ลิ้นปี่จนถึงขาหนีบ แล้วใส่หลอดเลือดเทียมเข้าไปแทนหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพอง วิธีนี้ให้ผลการรักษาในระยะยาวได้ดี แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดค่อนข้างนาน จึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย

2. การผ่าตัดแบบใส่หลอดเลือดเทียมที่มีสายสวนหรือการผ่าตัดเล็ก

วิธีนี้ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาที่ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยแพทย์จะทำการใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวดเข้าไปแทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องท้อง ผ่านทางหลอดเลือดแดงของขาหนีบทั้ง 2 ข้าง ข้อดีของวิธีนี้คือแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บตัวน้อย ฟื้นตัวเร็ว และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง การรักษาระยะสั้นและระยะกลางนั้นมีประสิทธิภาพดี แต่ต้องคอยพบแพทย์เพื่อติดตามผลในระยะยาวต่อไป

การพิจารณาเพื่อเลือกวิธีการผ่าตัดสำหรับคนไข้แต่ละราย พิจารณาจากโรคประจำตัวและประเมินการทำงานของหัวใจเป็นสำคัญ ในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้วซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มีภาวะถุงลมโป่งพอง หรือมีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง การใช้วิธีผ่าตัดเล็กจะเหมาะสมกว่า ส่วนในคนไข้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจมีการทำงานที่ปกติ แพทย์ก็จะเลือกรักษาด้วยวิธีผ่าตัดใหญ่

สำหรับวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดช่องท้องโป่งพอง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นหลัก ได้แก่ งดบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ


ขอบคุณข้อมูลจาก RAMA Channel

ภาพประกอบจาก Pixabay


ข่าวที่เกี่ยวข้อง