รีเซต

"อาการปวดท้อง" ปวดแบบไหนต้องระวัง-พบบ่อยอาจเป็นสัญญาณเตือนบอกโรค

"อาการปวดท้อง" ปวดแบบไหนต้องระวัง-พบบ่อยอาจเป็นสัญญาณเตือนบอกโรค
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2565 ( 16:05 )
282
"อาการปวดท้อง" ปวดแบบไหนต้องระวัง-พบบ่อยอาจเป็นสัญญาณเตือนบอกโรค

อาการปวดท้อง คนส่วนใหญ่มักมองข้าม หรือถ้าใครมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะบรรเทาเบื้องต้นด้วยการซื้อยามารับประทานเอง แต่ทว่า...อาการปวดท้องนับว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากละเลยปล่อยให้มีอาการอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำการรักษาและตรวจร่างกายเช็กอาการ เมื่อรู้ตัวช้าจะเกิดความเสี่ยงเพราะบางโรคอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

เป็นที่รู้กันว่า ช่องท้องประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ จำนวนมาก ได้แก่ ตับ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องและพบได้บ่อยจึงต้องไปพบแพทย์

สาเหตุของอาการปวดท้อง

สาเหตุของอาการปวดท้อง อาจเกิดจากโรคของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในช่องท้อง หรืออาจเกิดจากอวัยวะนอกช่องท้อง เรียกว่าอาการปวดท้องที่ร้าวมาจากอวัยวะอื่น (Referred Pain) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดบวม การติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น โรคงูสวัด เป็นต้น

การหาสาเหตุของอาการปวดท้องประกอบด้วยวิธีต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการส่งตรวจวินิจฉัยทางรังสี แม้ว่าจะมีวิธีตรวจมากมายแต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค คือ ตำแหน่งที่ปวดท้อง

ช่องท้อง 7 ส่วน

ช่องท้องแบ่งเป็น 7 ส่วน เมื่อใช้สะดือเป็นจุดตรงกลางลากเส้นสมมุติแนวนอน เหนือเส้นแนวสะดือเป็นช่องท้องช่วงบน ใต้เส้นแนวสะดือเป็นช่องท้องช่วงล่าง ต่อมาลากเส้นแนวตั้งกลางลำตัวแบ่งเป็นช่องท้องซีกซ้ายและช่องท้องซีกขวา และเพิ่มอีก 3 ส่วน คือ ใต้ลิ้นปี่ (Epigastrium) บริเวณรอบสะดือ (Periumbilical area) และบริเวณเหนือหัวหน่าว (Suprapubic area) 

เมื่อมีอาการปวดท้องในตำแหน่งเหล่านี้ มักเป็นโรคของอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่

ปวดท้องด้านซ้ายช่วงบน 

อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้และไตซ้าย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามแตก กรวยไตซ้ายอักเสบ นิ่วในไตซ้าย เป็นต้น

ปวดท้องด้านซ้ายช่วงล่าง 

อาจเป็นโรคที่เกิดจากลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านซ้าย เช่น ลำไส้อักเสบ ปีกมดลูกซ้ายอักเสบ เป็นต้น

ปวดท้องด้านขวาช่วงบน 

อาจเป็นโรคที่เกิดจากตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ และไตขวา เช่น ตับอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี กรวยไตขวาอักเสบ นิ่วในไตขวา เป็นต้น

ปวดท้องด้านขวาช่วงล่าง 

อาจเป็นโรคที่เกิดจากไส้ติ่ง ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านขวา เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกขวาอักเสบ เป็นต้น

ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ 

อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ถุงน้ำดี เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น

ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ 

เป็นตำแหน่งของลำไส้เล็ก อาจเกิดจากลำไส้อักเสบและเป็นอาการเริ่มปวดท้องของไส้ติ่งอักเสบได้ (ก่อนจะย้ายไปปวดบริเวณด้านขวาช่วงล่าง)

ปวดท้องบริเวณเหนือหัวหน่าว 

อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะ มดลูก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก เป็นต้น

ปวดท้องใต้ชายโครงขวาเสี่ยง "ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน"

ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะถุงน้ำดีที่มีอาการอักเสบขึ้นทันทีทันใด มักมีอาการปวดท้องรุนแรง บริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวาโดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ จะปวดขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับอาการมีไข้ ส่วนมากมีสาเหตุเกิดจากก้อนนิ่วไปอุดตันท่อทางเดินน้ำดี ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียนและอาจหนาวสั่นร่วมกับอาการปวดท้อง หากถุงน้ำดีแตก จะมีไข้สูง หน้าท้องแข็ง กล้ามเนื้อจะหดเกร็ง เจ็บทุกส่วนของช่องท้อง 

ผู้ป่วยที่เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันอย่างรุนแรง โดยเกิดอาการนานหลายชั่วโมง ร่วมกับอาการไข้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคถุงน้ำดีอักเสบควรได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเร่งด่วน

ถุงน้ำดีมีหน้าที่หลักในการเก็บสำรองน้ำดีที่ผลิตจากตับ แล้วก็ทำให้น้ำดีเข้มข้นขึ้น น้ำดีช่วยในการย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารจำพวกไขมัน หากเกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี จะส่งผลให้ถุงน้ำดีบวม อักเสบ 

สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินน้ำดีหรือถุงน้ำดี

แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

1. เกิดจากนิ่ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด 

2. สาเหตุอื่นที่พบได้น้อยมากหากเทียบกับอาการที่เกิดจากนิ่ว  เช่นการเกิดพังผืดอุบัติเหตุที่ทำให้ถุงน้ำดีฉีกขาด การติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือภาวะแทรกซ้อนจากการป่วยหนัก 

สำหรับผู้ป่วยที่ป่วยเป็นถุงน้ำดีอักเสบจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา โดยแพทย์จะคอยดูแลอาการอักเสบของถุงน้ำดี และอาการป่วยอื่นๆ ควบคู่กันไปนิ่วในถุงน้ำดีนั้นพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักพบในผู้หญิงอ้วน อายุเยอะ 

ลดความเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีอักเสบไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคได้ การลดความเสี่ยงดังกล่าวทำได้โดยการลดน้ำหนัก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปเสี่ยงเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้สูง การลดน้ำหนัก ไม่ควรหักโหมลดน้ำหนัก 

ควรเลือกรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ หรือธัญพืชต่างๆ เพราะเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงร่วมกับการออกกำลังกาย การป้องกันตัวเองในเบื้องต้นเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีและการเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันได้

กลุ่มวัยทำงานเสี่ยง "โรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง"

ปัจจุบันในกลุ่มวัยทำงาน มักเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะมากกว่ากลุ่มอื่น สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคมวัยทำงานที่เร่งรีบ มีความเครียด ความกังวล ส่งผลให้รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ หรือการรับประทานยาแก้ปวดจำพวก Aspirin ยาลดการอักเสบเป็นประจำ อีกทั้ง การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของคน ส่งผลทำให้เกิด โรคกระเพาะได้

อาการของโรคกระเพาะนั้นสังเกตได้ 

อาการปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาหารไม่ย่อย ลมในท้องเยอะ สามารถเกิด ก่อน – หลังรับประทานอาหารได้ หรือ คลื่นไส้ อาเจียน และอิ่มง่าย การป้องกัน ไม่ให้เกิดโรคกระเพาะอาหารนั้น 

"แก้ได้" ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ ตรงเวลา อย่าปล่อยให้ท้องว่างเกิน 3 ชั่วโมง รับประทานอาหารจำนวนน้อยๆ ย่อยง่าย ในแต่ละมื้อควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดท้อง เช่นอาหารรสจัด รสเปรี้ยว อาหารหมักดอง งดเครื่องดื่มกาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์ บุหรี่ น้ำอัดลมเพราะมีแก๊สมากกระเพาะขยายตัวทำให้ปวดมากขึ้นและกระตุ้นให้หลั่งกรดเพิ่มขึ้นด้วย 

งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( NSAID )หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้กรดออกมาก ตามธรรมชาติเมื่อกรดออกมากจะสร้างแก๊สมาก กระเพาะจะขยายและเกร็งตัวทำให้มีอาการปวดท้องมากกว่าปกติ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการ ปวดท้องรุนแรง น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระสีดำ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

"ไส้ติ่งอักเสบ" พบได้ทุกเพศทุกวัย ระยะรุนแรงอันตรายถึงแก่ชีวิต

ไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ระหว่างลำไส้เล็กตอนปลายและลำไส้ใหญ่ตอนต้น ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย การอักเสบในไส้ติ่งเกิดจาก?

ภาวะการอักเสบในไส้ติ่งเกิดจากการอุดตันภายในไส้ติ่ง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเศษอุจจาระขนาดเล็กที่ทำให้ไส้ติ่งเกิดการติดเชื้อและบวมขึ้น หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ที่ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในไส้ติ่งเกิดปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการขยายตัวขึ้นจนไปปิดกั้นไส้ติ่ง ทำให้เกิดอาการอักเสบ เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอันตราย ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาไส้ติ่งที่อักเสบจะแตก ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในไส้ติ่งสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว อาจเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

อาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ

อาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่ มีอาการปวดอย่างเฉียบพลันที่บริเวณรอบสะดือ ต่อมาย้ายไปปวดที่ท้องด้านล่างขวาเนื่องจากการอักเสบที่ลุกลามมากขึ้น โดยจะมีอาการปวดมากขึ้นขณะที่ไอ เดิน หรือแม้แต่ขยับตัวคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีไข้ มีอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องอืดร่วมด้วยตลอดจน มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากการอักเสบที่มากขึ้นของไส้ติ่งไปกระตุ้นท่อไตของระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งอยู่ใกล้กัน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากหากเข้าสู่ระยะรุนแรงไส้ติ่งที่อักเสบสามารถแตกได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัดไส้ติ่งอย่างเร่งด่วน 

สำหรับการผ่าตัดมี 2 ประเภท คือ 

1. การผ่าตัดแบบส่องกล้องในระยะไม่รุนแรง เป็นการผ่าตัดเล็กสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันที 

2. การผ่าตัดแบบเปิด ในกรณีระยะรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตก ซึ่งเป็นผ่าตัดแบบมาตรฐาน เพราะนอกจากจะต้องนำไส้ติ่งที่แตกออกแล้ว ยังต้องทำความสะอาดภายในช่องท้อง และใส่ท่อเพื่อระบายหนองจากฝีที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน 

โรคไส้ติ่งอักเสบ ป้องกันได้หรือไม่?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบ เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จึงทำได้แค่เพียงลดความเสี่ยงเท่านั้น โดยป้องกันไม่ให้มีอาการท้องผูกรับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง 

นอกจากนี้ หากพบว่ามีอาการติดเชื้อหรือการอักเสบที่ลำไส้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เนื่องจากการอักเสบนั้นอาจลุกลามไปถึงไส้ติ่งได้เช่นกัน


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ / โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพจาก AFP


ข่าวที่เกี่ยวข้อง