ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์-ค้าส่งเภสัชภัณฑ์พุ่ง ดันยอดจดตั้งบริษัทไตรมาสแรกบวก 20%
ข่าววันนี้ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจ ประจำเดือนมี.ค 2564 ว่า มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 8,841 ราย สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 46% ส่วนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2564 มี จำนวน 23,389 ราย เทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 20%
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในไตรมาสแรกของปีอาจมีผลมาจากปัจจัย หนุนด้านเศรษฐกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมี.ค. 2564 ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 13 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนมี.ค. 2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 9.87% รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์และผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
รวมทั้งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากนโยบายการผลักดันให้วิสาหกิจ ชุมชนจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของภาครัฐ แต่ขณะเดียวกันธุรกิจบางประเภทมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจการขายปลีก ทางอินเตอร์เน็ตหรือออนไลน์ ในไตรมาสที่ 1 มีจัดตั้งใหม่ 1,987 ราย เพิ่มขึ้น 72% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ในไตรมาสที่ 1 มีจำนวนจัดตั้งใหม่ 1,224 ราย เพิ่มขึ้น 44% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยข้างต้นนี้ล้วนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและธุรกิจ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจและสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นายทศพล กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ จำนวน 8,841 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,426.89 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 667 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 366 ราย คิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 232 ราย คิดเป็น 3%
ส่วนธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 1/2564 จำนวน 23,389 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 จำนวน 13,162 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 10,227 ราย คิดเป็น 78% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 จำนวน 19,415 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,974 ราย คิดเป็น 20% ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,872 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 948 ราย คิดเป็น 4% และธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 556 ราย คิดเป็น 2% ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมี.ค. 2564 มีจำนวน 790 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,550.37 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 68 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 67 ราย คิดเป็น 8% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 31 ราย คิดเป็น 4% ตามลำดับ
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการไตรมาส 1/2564 จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำไตรมาส 1/2564 มีจำนวน 2,478 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 19,827.65 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 220 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 153 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 86 ราย คิดเป็น 3%