“เสียงพูดของคนไทย” ถูกส่งไปเก็บบนดวงจันทร์ร่วมกับเสียงจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในโปรเจกต์ MIT

ภายหลังจากยานเอเธน่า (Athena) ภารกิจ IM-2 ของบริษัท อินทูอิทีฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ยานได้บรรทุกอุปกรณ์ต่าง ๆ หลายรูปแบบขึ้นไปพร้อมกับยาน
โดยมีอุปกรณ์บางส่วน เช่น กล้องวัดความลึก รถโรเวอร์ขนาดเล็กชื่อ "AstroAnt" และจานซิลิคอนขนาด 2 นิ้ว ที่บรรจุข้อความจากผู้คนทั่วโลกในหลายสิบภาษา ถูกพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ซึ่งใช้ออกแบบเชิงวิศวกรรมโดยศาสตราจารย์เครก คาร์เตอร์ (Prof. Craig Carter) ภาควิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ MIT และติดตั้งบนรถโรเวอร์ขนาดเล็ก Lunar Outpost MAPP
จานซิลิคอนขนาด 2 นิ้ว ดังกล่าวเป็นโครงการที่มีชื่อว่า HUMANS (Humanity United with MIT Art and Nanotechnology in Space) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโลกศิลปะและวิทยาศาสตร์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนของ MIT เข้าร่วม ตั้งแต่ด้านวิศวกรรมการบิน วิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมกับ MIT.nano และ MIT Media Lab
แม้ภารกิจ IM-2 จะสิ้นสุดลงก่อนกำหนดเนื่องจากยาน Athena ล้มตะแคงหลังลงจอด แต่แผ่นซิลิคอน HUMANS ก็ได้บรรลุเป้าหมายที่มันได้ไปถึงพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จ
สำหรับโครงการ HUMANS นั้นได้แรงบันดาลใจจากแผ่นเสียงทองคำ (Golden Record) ซึ่งถูกส่งออกไปกับยาน Voyager 1 และ 2 เมื่อปี 1977 เพื่อแนะนำมนุษยชาติสู่สิ่งมีชีวิตต่างดาว แต่โครงการ HUMANS ตั้งใจจะส่งข้อความถึง “เพื่อนมนุษย์” ทุกคน แทนที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตนอกโลก
โครงการนี้เริ่มต้นโดยนักศึกษาปริญญาเอก มายา นาสร์ (Maya Nasr) และหลีฮุย จาง (Lihui Zhang) โดยเชิญชวนผู้คนจากทั่วโลกให้ส่งข้อความหรือเสียงในภาษาของตน เพื่อรวมเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติในอวกาศ
ศาสตราจารย์เครก คาร์เตอร์ ใช้กระบวนการแปลงข้อความจาก 64 ภาษาให้เป็นตัวเลขแล้วพัฒนาอัลกอริธึมสร้างแบบอักษร จากนั้นออกแบบการจัดเรียงตัวอักษร (Kerning) อย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ทุกคำดูสวยงามและสมดุล จากนั้นนำทั้งข้อความและคลื่นเสียงดิจิทัลมาแปลงเป็นลวดลายเกลียวคล้ายแผ่นเสียงบนแผ่นซิลิคอน พร้อมภาพแผนที่โลกตรงกลางที่สร้างจากพิกัดทางภูมิศาสตร์
การสลักที่แม่นยำระดับนาโนทำโดยห้องปฏิบัติการ MIT.nano โดยใช้เทคโนโลยีสลักลายบนวัสดุขั้นสูงบนแผ่นเสียง 2 ขนาด คือ แผ่นเสียงขนาด 6 นิ้ว ถูกส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในภารกิจ Axiom-2 ในปี 2023 ที่ผ่านมา ส่วนแผ่นเสียงขนาด 2 นิ้ว ที่เล็กกว่าจะเดินทางบนพื้นผิวดวงจันทร์ในภารกิจ IM-2 ดังที่กล่าวข้างต้น
ศาสตราจารย์เครก คาร์เตอร์ ระบุเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์ MIT ว่า
"โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ในการแสวงหาและตั้งคำถามต่อจักรวาล การมองออกไปยังอวกาศ ทำให้เรามองย้อนกลับมายังตัวเอง และหากสิ่งนี้ช่วยเตือนให้เราระลึกว่า เราทุกคนกำลังสงสัยและสำรวจจักรวาลใบเดียวกันอยู่ นั่นก็คือชัยชนะ"
ตัวอย่างเสียงภาษาไทยที่ถูกส่งบนพื้นผิวดวงจันทร์มีทั้งหมด 46 รายการ และข้อความอักษร 57 รายการ เช่น
"ความเวิ้งว้าง ในปลายทางที่เราไม่รู้จัก ไม่รุ้ว่าจะมีอารยธรรมอื่นแบบเราไหม ในอวกาศอันกว้างไกล"
"ในแกแล็คซี่นี้ ยังมีสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่า Humansถ้ายาน ลำนี้ได้ออกไปถึงนอกระบบสุริยะ แล้วบังเอิญเจอสิ่งมีชีวิต ระหว่างดวงอาทิตย์ 152,100,000 กิโลเมตร"
"สำหรับตัวผมแล้วคิดว่าอวกาศคือสิ่งที่เรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้ในอวกาศการที่เราศีกษาอวกาศนั้นอาจจะสามารถทำให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพของตัวเองได้"
"อวกาศเป็นของทุกคน มันคือสิ่งที่เป็นทั้งประโยชน์และเป็นทั้งความรู้เป็นอะไรหลายๆสิ่งที่ สร้างแรงบัลดาลใจให้กับคนทั้งโลก ไม่มีชาติไหนที่สามารถครองอวกาศอันไกลโพ่นนี้ได้ เพราะอวกาศเป็นของทุกคน"