รีเซต

เกิดอะไรขึ้นกับ "เรือดำน้ำไททัน" ยานสำรวจซากเรือไททานิค?

เกิดอะไรขึ้นกับ "เรือดำน้ำไททัน" ยานสำรวจซากเรือไททานิค?
TNN ช่อง16
21 มิถุนายน 2566 ( 16:28 )
206
เกิดอะไรขึ้นกับ "เรือดำน้ำไททัน" ยานสำรวจซากเรือไททานิค?

เกิดอะไรขึ้นกับ "เรือดำน้ำไททัน" ยานสำรวจซากเรือไททานิค? หลังขาดการติดต่อ เหลือออกซิเจนหายใจอีกไม่นาน เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาอย่างเร่งด่วน

กองทัพเรือสหรัฐฯ แคนาดา และหน่วยงานรัฐบาลอีกหลายหน่วย กำลังช่วยบริษัทเอกชนในกฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำ ‘ไททัน’  หลังขาดการติดต่อในมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยต่างส่งเครื่องบินและเรือไปยังบริเวณกลางมหาสมุทรแอตแลนติก โดยในเรือดำน้ำมีคนอยู่ 5 คน ซึ่งรวมถึง ‘ฮามิช ฮาร์ดิง’ อภิมหาเศรษฐีอังกฤษอยู่ในเรือดำน้ำด้วย


พลเรือจัตวา จอห์น มอเกอร์ ผู้บัญชาการเขตที่ 1 ของยามฝั่งสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นว่า เรือดำน้ำท่องเที่ยวที่สูญหายกลางมหาสมุทรแอตแลนติก มีออกซิเจนหายใจได้ 70-96 ชั่วโมง ส่วนปฏิบัติการค้นหา ขณะนี้เครื่องบิน 2 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ และทุ่นโซนาร์ของสหรัฐฯ และแคนาดา กำลังค้นหาเรือดำน้ำที่สูญหายบริเวณตอนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากฝั่งเมืองเคป ค้อด (Cape Cod) ประมาณ 1,450 กิโลเมตร โดยกำลังพยายามระบุตำแหน่งที่เรือดำน้ำสูญหาย แต่เตือนว่าพื้นที่ค้นหาเป็นพื้นที่ห่างไกลจึงเพิ่มความยากในการค้นหา


ภาพจาก รอยเตอร์

 



เกิดอะไรขึ้นกับไททัน

จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำไททัน แต่ผู้เชี่ยวชาญได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้หลายประการด้วยกัน

– นายอีริก ฟูซิล (Eric Fusil) ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำและรองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแอดิเลดระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งคือไฟฟ้าดับ ซึ่งสามารถตัดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก โดยปกติแล้วเรือดำน้ำชนิดเดียวกับไททันจะมีพลังงานสำรอง เผื่อกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าไททันมีพลังงานสำรองหรือไม่

-นายฟูซิลกล่าวว่า ปัจจัยที่ 2 คือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งไม่เพียงแต่ทำลายระบบของเรือดำน้ำเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดควันพิษในพื้นที่ปิดขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อผู้โดยสาร

-อีกปัจจัยที่นายฟูซิลตั้งข้อสันนิษฐานคือน้ำซึมเข้าสู่พื้นที่ภายในเรือดำน้ำไททัน โดยที่ความลึกของเรือไททานิกนั้นจะก่อให้เกิดแรงดันมหาศาลที่ทำให้ยานพาหนะส่วนใหญ่ระเบิดได้ แต่โอเชียนเกตระบุว่า ไททันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งสามารถจับตาแรงกดดันบนเรือได้และส่งเสียงเตือนกัปตันเรือหากตรวจพบข้อบกพร่องขึ้น

-ข้อสันนิษฐานสุดท้าย นายฟูซิลคาดการณ์ว่าเรือดำน้ำไททันอาจติดอยู่ในเศษซากชิ้นส่วนของอะไรบางอย่างหรือถูกปิดกั้นเส้นทาง เนื่องจากใต้มหาสมุทรนั้นกระแสน้ำเชี่ยวกรากและยังมีเศษชิ้นส่วนจากซากเรือไททานิกบริเวณท้องมหาสมุทรอีกด้วย


ภาพจาก รอยเตอร์

 




 ผู้สูญหายทั้ง 5 รายไปพร้อมกับเรือดำน้ำไททัน ได้แก่


-นายฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) นักผจญภัยชาวอังกฤษวัย 58 ปีที่เคยมีประสบการณ์เดินทางไปอวกาศและขั้วโลกใต้หลายครั้ง

-นายชาซาดา ดาวู้ด (Shahzada Dawood) นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี ซึ่งเป็นสมาชิกของหนึ่งในตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของปากีสถานและเป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิ 2 แห่งที่ก่อตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ

-นายซูเลมาน ดาวู้ด (Suleman Dawood) บุตรชายวัย 19 ปีของนายชาซาดา ดาวู้ด

-นายปอล อองรี นาร์โฌเลต์ (Paul-Henry Nargeolet) อดีตนักดำน้ำกองทัพเรือฝรั่งเศสวัย 77 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สำรวจซากเรือไททานิกมากกว่านักสำรวจคนอื่น ๆ และเป็นหนึ่งในคณะสำรวจซากเรือไททานิกกลุ่มแรกในปี 2530

-นายสต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโอเชียนเกตวัย 61 ปี โดยโอเชียนเกตเป็นผู้ทำทริปเที่ยวชมซากเรือไททานิก



ล่าสุด หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ โพสต์ข้อความลงทวิตเตอร์เมื่อเช้าตรู่วันนี้ โดยระบุว่า เครื่องบินของแคนาดา ตรวจพบสัญญาณเสียงรบกวนใต้น้ำในทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ในระหว่างค้นหายานดำน้ำที่พานักท่องเที่ยวไปชมซากของเรือไททานิก แต่ได้สูญหายไปในระหว่างการเดินทาง โดยทีมค้นหาได้กำหนดตำแหน่งใหม่สำหรับปฏิบัติการค้นหาของหุ่นยนต์ใต้น้ำ เพื่อพยายามเสาะหาต้นกำเนิดของเสียง

อย่างไรก็ตาม แม้การค้นหาในตำแหน่งใหม่ของ ROV ยานหุ่นยนต์ควบคุมด้วยรีโมตต้องพบกับความว่างเปล่า  แต่ทีมค้นหายังคงเดินหน้าภารกิจต่อไป   



ภาพจาก รอยเตอร์

 



เรือดำน้ำไททันเดินทางอย่างไร

เริ่มจากเรือไททัน ออกเดินทางเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน จากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟาวด์แลนด์ ของแคนาดา เรือดำน้ำไททันเดินทางมาเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณที่ซากเรือไททานิคจมอยู่ในวันที่ 18 มิถุนายน ห่างจากจุดที่ออกเดินทางไปทางใต้ราว 700 กิโลเมตร โดยขาดการติดต่อกับเรืออีกลำที่อยู่บนผิวน้ำ ซึ่งเป็นเรือนำทาง ชื่อ ‘โพลาร์ พรินซ์’ หลังจากที่เรือดำน้ำได้ดำดิ่งลงสู่ใต้น้ำนาน 1 ชั่วโมง 45 นาที เพื่อไปยังจุดที่ซากเรือไททานิคจมอยู่


เรือดำน้ำไททันจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการดำดิ่งเป็นระยะทาง 3,800 เมตรเพื่อไปถึงซากเรือไททานิค แต่ถ้านับเวลาทั้งหมดตั้งแต่เรือเริ่มดำน้ำ ไปจนถึงโผล่ขึ้นจากน้ำ ใช้เวลาทั้งหมด 8 ชั่วโมง โดยมีออกซิเจนใช้ได้นาน 96 ชั่วโมง ส่วนศูนย์ควบคุมปฏิบัติการกู้ภัยอยู่ที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ


ขนาดของเรือดำน้ำไททัน

เรือดำน้ำไททันที่สูญหายเป็นของบริษัทเอกชน ‘โอเชียน เกท’ เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก ยาว 6.7 เมตร มีขนาดประมาณรถบรรทุก 1 คัน จุดคนได้ 5 คน ดำน้ำได้ลึก 4,000 เมตร มีออกซิเจนสำรองกรณีฉุกเฉินนาน 4 วัน

ส่วนราคาตั๋วเรือดำน้ำไปชมซากไททานิค มีราคา 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8 ล้าน 7 แสนบาท สำหรับการท่องเที่ยวนาน 8 วัน ที่รวมถึงการลงเรือดำน้ำดูซากเรือไททานิคด้วย ที่จมอยู่ที่ความลึก 3,800 เมตร


ส่วนเรือไททานิคได้อับปางลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 15 เมษายน 1912 หลังจากเดินทางออกจากนครเซาธ์แทมตัน ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 1912 ไปยังนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งระหว่างคืนวันที่ 14 เมษายนเข้าสู่ 15 เมษาน เรือไททานิคชนกับภูเขาน้ำแข็ง และจมลงสู่ทะเลภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง ผู้โดยสาร 1,517 คน จาก 2,223 คน เสียชีวิต



ภาพจาก รอยเตอร์

 




ที่มา TNN ช่อง 16 / infoquest

ข่าวที่เกี่ยวข้อง