รีเซต

โควิด : ทำไมสหราชอาณาจักรจึงเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวิกฤตโรคระบาดใหญ่

โควิด : ทำไมสหราชอาณาจักรจึงเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของวิกฤตโรคระบาดใหญ่
ข่าวสด
17 มกราคม 2565 ( 09:09 )
87

สหราชอาณาจักรรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน เมื่อ 15 ธ.ค. ว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 1 เดือน คือ 81,713 ราย

 

สถิตินี้เป็นดั่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับคนจำนวนไม่น้อย ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่า เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนอาจทำให้สหราชอาณาจักรใกล้หลุดพ้นจากวิกฤตโรคระบาดใหญ่ (pandemic) ที่ดำเนินมาร่วม 3 ปี

 

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า โควิดจะหายวับไปในชั่วพริบตา ทว่ามันจะกลายเป็น "โรคประจำถิ่น" (endemic) ที่จะคงอยู่ต่อไป แต่จะลดความรุนแรงลงจนทำให้ผู้คนสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนกับ "ยุคก่อนโควิด" ได้อีกครั้ง

 

ศาสตราจารย์ จูเลียน ฮิสค็อกซ์ ประธานหลักสูตรโรคติดเชื้อและสุขภาพโลกมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เรากำลังเข้าสู่ระยะใหม่ของโรคระบาดใหญ่ ซึ่งโควิดจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนน้อยลง

 

"เราเกือบจะไปถึงจุดนั้นแล้ว ขณะนี้คือจุดเริ่มต้นของจุดจบ อย่างน้อยก็ในสหราชอาณาจักร...ผมคิดว่าชีวิตในปี 2022 แทบจะกลับไปเป็นเหมือนกับช่วงก่อนโควิดระบาด" เขากล่าว

 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนับแต่โควิดเริ่มระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นเมื่อราว 3 ปีก่อนก็คือภูมิคุ้มกันโรคของพวกเรา ซึ่งปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้นจากทั้งการฉีดวัคซีน และการที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นตามธรรมชาติจากติดเชื้อ

 

ในตอนที่คนส่วนใหญ่ในโลกยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโควิด โรคติดต่อนี้ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกราวกับไฟป่า ทว่าเปลวไฟนี้ก็ไม่อาจจะเผาไหม้ด้วยความรุนแรงไปได้ตลอดกาล

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีรูปการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ เราจะดับไฟโควิดนี้ให้หมดสิ้นไป เหมือนเช่นการขจัดโรคอีโบลาให้หมดไปจากภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก หรือเชื้อโรคโควิดจะลดความรุนแรงลง แต่จะอยู่กับเราไปในระยะยาวแบบเดียวกับโรคประจำถิ่นชนิดอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดทั่วไป เชื้อเอชไอวี โรคหัด ไข้มาลาเรีย และวัณโรค

 

ดร. เอลิซาเบตตา กร็อปเปลลี นักวิทยาไวรัส จากสถาบันเซนต์จอร์จเจส มหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่า เชื้อโรคโควิดมีลักษณะที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

 

"ดิฉันมีความหวังว่า ในอีกไม่นานเราจะเข้าสู่สถานการณ์ที่เชื้อไวรัสชนิดนี้จะแพร่ไปทั่ว เราจะคอยดูแลคนกลุ่มเสี่ยง แต่สำหรับคนอื่น ๆ เราคาดว่าพวกเขาจะได้รับเชื้อ และส่วนใหญ่จะไม่เป็นอะไร" เธอกล่าว

 

บรรดานักไวรัสวิทยาจะมองว่า โรคชนิดหนึ่งเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ก็ต่อเมื่อโรคมีระดับการแพร่ระบาดคงที่และคาดการณ์ได้ ไม่เหมือนกับโรคระบาดใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เหมือนการระบาดของโควิดในระลอกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

 

ศาสตราจารย์ อัซรา กานี นักไวรัสวิทยาจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ระบุว่า ผู้คนใช้คำว่า "โรคประจำถิ่น" เพื่อสื่อความหมายว่า โควิดจะยังคงอยู่กับเราต่อไป แต่เราไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมทางสังคมเพื่อจำกัดการระบาดของโรคอีกต่อไป

 

เธอคิดว่าเราจะเข้าสู่การสิ้นสุดของโรคระบาดใหญ่ "อย่างรวดเร็ว" โดยกล่าวว่า "อาจดูเหมือนว่ามันใช้เวลานาน แต่เราเพิ่งเริ่มโครงการให้วัคซีนกันไปเมื่อ 1 ปีก่อนเท่านั้น และเราก็เป็นอิสระเพิ่มขึ้นมากเพราะสิ่งนี้"

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้อาจผกผันได้ หากมีเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่เกิดขึ้นที่มีความร้ายแรงกว่าโอมิครอน และทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องจดจำก็คือ โรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีความรุนแรง

 

ศาสตราจารย์ กานี ชี้ว่า เรามีโรคประจำถิ่นที่มีความอันตรายหลายชนิด เช่น โรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ (Smallpox) ที่เป็นโรคประจำถิ่นมาหลายพันปีและคร่าชีวิต 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อ ส่วนไข้มาลาเรีย ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกปีละประมาณ 600,000 คน

 

อย่างก็ตาม ปัจจุบันเราได้เห็นว่าโควิดมีความอันตรายน้อยลงทุกขณะ เพราะร่างกายคนเราได้เรียนรู้ที่จะต่อสู้กับมัน

 

ในสหราชอาณาจักร มีโครงการให้วัคซีนแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเผชิญคลื่นการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์มาแล้วถึง 4 ชนิด

 

ศาสตราจารย์ เอลินอร์ ไรลีย์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ ระบุว่า "เมื่อโอมิครอนสิ้นสุดการระบาด และผ่านพ้นไปแล้ว ระดับภูมิต้านทานโรคในสหราชอาณาจักรจะพุ่งสูงขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง"

 

แม้ภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้นนี้จะมีราคาที่ต้องจ่าย คือการเสียชีวิตของผู้ป่วยกว่า 150,000 คน ในสหราชอาณาจักร แต่ก็ได้ทิ้งการปกป้องไว้ให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของเรา ภูมิต้านทานโรคนี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น จึงคาดว่าเราจะมีโอกาสติดเชื้อโรคโควิดได้ในอนาคต แต่อาการป่วยที่เกิดจากโรคนี้จะลดลง

 

ศาสตราจารย์ ฮิสค็อกซ์ ซึ่งเป็นหนึ่งคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลว่าด้วยภัยคุกคามจากไวรัสในระบบทางเดินหายใจที่อุบัติใหม่ ระบุว่า นี่หมายความว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด

 

"หากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือเชื้อสายพันธุ์เก่าระบาด สำหรับคนส่วนใหญ่ ก็จะมีแค่อาการน้ำมูกไหล และปวดหัวนิดหน่อย แล้วก็จะหายป่วย" เขากล่าว

 

ชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป

แม้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็จะยังมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนชราและคนกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น จึงยังต้องมีการตัดสินใจจากทางการถึงแนวทางในการที่เราจะใช้ชีวิตร่วมกับมัน

 

ศาสตราจารย์ ฮิสค็อกซ์ อธิบายว่า หากเรายอมรับได้ว่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากโควิด ก็จะต้องมีการกำหนดมาตรการควบคุมโรคขึ้นใหม่ พร้อมกับยกตัวอย่างของไข้หวัดใหญ่ว่า ในฤดูกาลที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงในฤดูหนาวก็จะมีผู้เสียชีวิตถึงวันละ 200-300 คน แต่ก็ไม่มีใครสวมหน้ากากหรือเว้นระยะห่างทางสังคม

 

เขาคาดว่า มาตรการการตรวจคัดกรองโควิดขนานใหญ่จะสิ้นสุดลงในปีนี้ และไม่น่าจะมีการนำมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งข้อห้ามเรื่องการรวมกลุ่มขนาดใหญ่กลับมาใช้อีก

 

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้คือ การให้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่คนกลุ่มเสี่ยงในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคให้ก่อนจะถึงฤดูหนาว

 

ดร. กร็อปเปลลี นักไวรัสวิทยา กล่าวว่า "เราต้องยอมรับเรื่องที่ว่า ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ของเราจะกลายเป็นฤดูกาลของโควิด และมันจะเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับพวกเรา"

 

ศาสตราจารย์ ไรลีย์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา คิดว่า เราจะไม่ถูกบังคับให้สวมหน้ากากหลังจากการระบาดของโอมิครอน แต่การสวมหน้ากากจะเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปยิ่งขึ้น แบบเดียวกับในหลายชาติเอเชียที่ผู้คนมักสวมหน้ากากอนามัยเวลาที่อยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด

ทั่วโลกจะเป็นอย่างไร

ในขณะที่สหราชอาณาจักรใกล้จะหลุดพ้นจากวิกฤตโรคระบาดใหญ่ จากปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบกับการมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ประเทศอื่น ๆ ในโลกยังคงห่างไกลจากการหลุดพ้นจากโรคระบาดใหญ่นี้

 

กลุ่มประเทศยากจนยังคงรอคอยวัคซีนที่จะฉีดให้แก่คนกลุ่มเสี่ยงที่สุดอยู่ ส่วนประเทศที่พยายามป้องกันโควิดระบาดในประเทศอย่างเข้มงวดนั้น แม้จะมียอดผู้เสียชีวิตน้อย แต่ก็มีภูมิคุ้มกันโรคในหมู่ประชากรในระดับต่ำ

 

องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า โลกยังอยู่ห่างไกลจากการหลุดพ้นจากโควิด และอธิบายว่ามันคือ "โรคประจำถิ่น"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง