รีเซต

โควิด-19 : ภาพฉาว รมว.สธ. เขย่าความพยายามจัดการโควิดของรัฐบาลอังกฤษ

โควิด-19 : ภาพฉาว รมว.สธ. เขย่าความพยายามจัดการโควิดของรัฐบาลอังกฤษ
ข่าวสด
27 มิถุนายน 2564 ( 01:33 )
64
โควิด-19 : ภาพฉาว รมว.สธ. เขย่าความพยายามจัดการโควิดของรัฐบาลอังกฤษ

 

ครอบครัวผู้สูญเสียสมาชิกจากโควิด-19 ชี้ว่า ภาพอื้อฉาวของนายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษที่กอดจูบกับเพื่อนสาวที่ชวนมาร่วมทำงานด้วย ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้น อาจทำลายความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้

 

 

เกิดอะไรขึ้น

เรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในอังกฤษ หลังจากเดอะซัน หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ชื่อดังได้เผยแพร่ภาพของนายแฮนค็อก ซึ่งแต่งงานมา 15 ปีและมีลูก 3 คนกับภรรยา กำลังกอดและจูบอย่างดูดดื่มกับนางจีนา โคลาแดนเจโล ซึ่งแต่งงานแล้วเช่นกัน และเป็นเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

 

 

เดอะซันระบุว่าภาพดังกล่าวถ่ายได้จากภายในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางการอังกฤษแนะนำให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 2 เมตรในที่ทำงาน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่กัน อีกทั้งยังเกิดก่อนที่รัฐบาลจะอนุญาตให้คนจากต่างครัวเรือนสามารถกอดกันได้ในวันที่ 17 พ.ค.

 

 

หลังจากภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา นายแฮนค็อกได้ยอมรับว่าได้ละเมิดมาตรการควบคุมโรคระบาดจริง และขอโทษที่ทำให้หลายคนต้องผิดหวัง แต่ยังประกาศจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

 

 

"ผมยังคงมุ่งมั่นจะทำงานต่อไปเพื่อให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากโรคระบาดครั้งนี้ และจะขอบคุณมากสำหรับความเป็นส่วนตัวที่ให้แก่ครอบครัวผมเกี่ยวกับประเด็นส่วนตัวนี้"

 

 

ด้านโฆษกทำเนียบนายกรัฐมนตรีระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน ยอมรับคำขอโทษของนายแฮนค็อกแล้ว และถือว่าเรื่องนี้ได้จบลงแล้ว

 

 

อย่างไรก็ตาม พรรคเลเบอร์ ฝ่ายค้าน และพรรคลิเบอรัล เดโมแครตส์ ต่างเรียกร้องให้ปลดนายแฮนค็อก ออกจากตำแหน่ง

 

 

โจนาธาน เบลก ผู้สื่อข่าวการเมืองของบีบีซีระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่พอใจในหมู่ ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟหลายคน และอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งไม่คิดว่า นายแฮนค็อกจะรอดจากเรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ไปได้

 

 

G

 

 

ทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาล

กลุ่มเพื่อความเป็นธรรมสำหรับครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกจากโควิด-19 (Covid-19 Bereaved Families for Justice) ในอังกฤษชี้ว่า การที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันไม่ยอมสั่งปลดนายแฮนค็อกออกจากตำแหน่งอาจเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในรัฐบาล แบบเดียวกับกรณีที่นายโดมินิก คัมมิงส์ อดีตหัวหน้าที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน ฝ่าฝืนมาตรล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ อีกทั้งอาจทำให้ประชาชนไม่สนใจปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอีกต่อไป

 

 

โดยกลุ่มได้เรียกร้องให้ผู้นำอังกฤษสั่งปลดนายแฮนค็อก หากเขาไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งด้วยตัวเอง พร้อมตั้งคำถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขผู้นี้จะยังถือเป็น "ผู้มีสิทธิอันชอบธรรมทางจริยธรรม" ในการสั่งให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโควิดอยู่อีกหรือไม่

 

 

น.ส.ริพกา กอตลีบ จากกลุ่มเพื่อความเป็นธรรมสำหรับครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกจากโควิด-19 ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "หากเขา (นายแฮนค็อก) จะประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หรือมาตรการอื่น ๆ ทำไมผู้คนจะต้องเชื่อฟังคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเสียเอง มันเป็นกรณีเดียวกับนายคัมมิงส์"

 

 

เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว นายคัมมิงส์ ขับรถระยะทาง 260 ไมล์ (418 กม.) ออกจากกรุงลอนดอนไปยังเมืองเดอรัม หลังจากเขาและภรรยาติดโควิด ทั้งที่ช่วงนั้นรัฐบาลยังประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด

 

 

แม้นายคัมมิงส์จะถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากสังคม แต่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันกลับแก้ต่างให้ที่ปรึกษาของเขา ซึ่งปัจจุบันได้พ้นจากตำแหน่งแล้ว โดยชี้ว่า นายคัมมิงส์ "ไม่มีทางเลือก" นอกจากต้องเดินทางเช่นนั้น

 

 

น.ส. กอตลีบ กล่าวว่าประชาชนต่างไม่พอใจกับการกระทำของนายคัมมิงส์ และเธอเกรงว่า จะมีคนฝ่าฝืนกฎมากยิ่งขึ้นหากนายแฮนค็อกยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป

 

 

ศาสตราจารย์ สตีเฟน ไรเชอร์ จากคณะจิตวิทยามหาวิทยาลัยเซนต์แอนดูรว์ส ในสกอตแลนด์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้กรณีของนายคัมมิงส์ "เป็นพิษภัยขนานแท้" ไม่ใช่การกระทำของตัวเขา แต่คือการที่นายกรัฐมนตรีจอห์นสันได้ออกมาปกป้องเขามากกว่า

 

 

"การกระทำที่ไม่สมควรของบุคคลหนึ่งได้กลายเป็นปัญหาต่อทั้งระบบ ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีกฎเกณฑ์หนึ่งสำหรับพวกเรา และอีกกฎเกณฑ์สำหรับพวกเขา" ศาสตราจารย์ ไรเชอร์ กล่าว

 

 

เขาบอกกับบีบีซีว่า "ท่ามกลางวิกฤตชาติครั้งใหญ่ เราต้องการรัฐบาลที่เราเชื่อมั่น และเราต้องการรัฐบาลที่เราจะฟังและปฏิบัติตาม"

 

 

กรณีล่าสุดนี้ ไม่ใช่แค่นายจอห์นสันที่เข้าข้างนายแฮนค็อก แต่ยังรวมถึงรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ในรัฐบาลที่กล่าวปกป้องและสนับสนุนเขาด้วย

 

 

นายโรเบิร์ต เจนริค รัฐมนตรีด้านการเคหะ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "ยังคงมีงานที่ต้องทำ แมตต์ก็กำลังทำหน้าที่นี้ และผมคิดว่าเราควรให้เขาได้ทำงานนี้ต่อไป"

 

 

 

สองมาตรฐาน?

เมื่อเดือน พ.ค.ปีก่อน ศาสตราจารย์ นีล เฟอร์กูสัน นักระบาดวิทยาชั้นแนวหน้าของอังกฤษได้ลาออกจากกลุ่มที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาล หลังจากมีข่าวว่าเขาฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์จากการที่หญิงสาวที่เขากำลังคบหาเดินทางมาหาเขาที่บ้านพัก

 

 

ตอนนั้น นายแฮนค็อก กล่าวว่า "ศาสตราจารย์ เฟอร์กูสัน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถโดดเด่น และงานที่เขาทำมีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำต่อรัฐบาล และผมคิดว่าเขาตัดสินใจถูกต้องแล้ว...ที่ลาออก"

 

 

เมื่อช่องสกายนิวส์ถามนายแฮนค็อกว่าเขาคิดว่าศาสตราจารย์ เฟอร์กูสัน ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ เขาตอบว่า "มันเป็นไปไม่ได้ในสถานการณ์นี้ครับ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง